ทำอย่างไรให้ดอกไม้ปักเจกันอยู่ได้นาน

ทำอย่างไรให้ดอกไม้ปักเจกันอยู่ได้นาน

การที่ดอกไม้ในแจกันหรือดอกไม้ประดับสวยงามในลักษณะต่างๆ อยู่ได้นานคงทน ย่อมเป็นที่อันพึงปรารถนาของเจ้าของ ดังนั้นการตัดดอกไม้เพื่อนำไปประดับแจกันหรือใช้ประดับสวยงามในรูปแบบต่างๆจึงจำเป็นต้องมีวิธีการและเทคนิคประกอบดังต่อไปนี้

เวลาที่เหมาะสมในการตัดดอกไม้

  • ระยะเวลาที่เหมาะสมในการตัดดอกก็เป็นสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงก่อนตัดดอกไม้จากต้นดอกไม้ทุกชนิดเมื่ออยู่กับต้นจะได้รับน้ำและสารอาหารจากต้นตลอดเวลา ดอกไม้ที่ตัดขณะที่ต้นได้รับน้ำไม่เพียงพอ ก้านดอกจะดูดอากาศเข้าไปแทนที่น้ำในก้านดอกทางรอยตัด จะทำให้มีน้ำอยู่ในก้านดอกน้อยทำให้เกิดฟองอากาศภายใน เมื่อนำก้านไปแช่น้ำก้านดอกจะดูดซึมน้ำได้ยาก จึงควรรดน้ำให้ต้นไม้อิ่มน้ำก่อนจึงตัดดอก
  • การตัดดอกควรตัดตอนเช้าหรือตอนเย็น ซึ่งก้านยังอวบน้ำอยู่ จะทำให้ดอกไม้อยู่ได้นานกว่าการตัดดอกตอนเที่ยงหรือบ่าย เนื่องจากในช่วงอากาศร้อนจัดจะทำให้ก้านสูญเสียน้ำมากทำให้เหี่ยวง่าย
  • ดอกไม้ที่มียาง เมื่อตัดดอกแล้วควรจุ่มโคนก้านดอกในน้ำร้อนอุณหภูมิ 85°C–90°C ประมาณ 2–3 วินาที เพื่อให้ยางหลุดออก เนื่องจากยางจะอุดตันบริเวณรอยตัดทำให้ก้านไม่สามารถดูดน้ำได้
  • ระยะบานของดอกที่เหมาะสมในการตัดของดอกไม้แต่ละชนิดก็เป็นสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงเช่นกัน
  • ดอกกุหลาบ ตัดได้เมื่อกลีบเลี้ยงบานออกตั้งฉากกับตัวดอกที่ยังตูกอยู่ หรือตัดเมื่อกลีบดอกกลีบแรกหรือกลีบที่สองเริ่มแย้มกลีบ ถ้าตัดเมื่อดอกยังอ่อนเกินไปจะทำให้ดอกเหี่ยวง่ายและไม่บานต่อ แต่ถ้าตัดในขณะที่ดอกบานมากเกินไปก็จะทำให้ดอกโรยเร็ว ดอกกุหลาบสีเหลืองจะมีระยะการบานสั้นกว่าสีอื่นจึงควรตัดเมื่อดอกยังตูมอยู่
  • ดอกเบญจมาศ ควรตัดเมื่อดอกที่สีเขียวใจกลางดอกจางหายไปแล้ว ถ้าเป็นดอกเป็นช่อควรให้ดอกที่อยู่ตรงกลางช่อบานเต็มที่ก่อน
  • ดอกคาร์เนชั่น ควรตัดเมื่อกลีบดอกบานทำมุมฉากกับกลีบรองดอกและใจกลางดอกคลี่ออก
  • แกลดิโอลัส ควรตัดเมื่อดอกล่างดอกแรกหรือสองดอกเริ่มมีสีเห็นชัดเจน

วิธีการตัดดอกไม้

  • ใช้มีดหรือกรรไกรที่และสะอาด ตัดก้านดอกให้เป็นมุมเฉียงและให้ได้รอยตัดเรียบไม่ช้ำ การตัดเฉียงๆ เพื่อให้ได้เนื้อที่ในการดูดน้ำมากขึ้น โดยเฉพาะดอกไม้ที่มีก้านเป็นไม้เนื้อแข็งเพรา ดอกไม้ประเภทนี้จะดูดน้ำได้เฉพาะทางรอยตัดเท่านั้น
  • ควรริดใบด้านล่างของก้านออกบ้างเพื่อไม่ให้เน่าอยู่ในน้ำทำให้เกิดกลิ่น และมีแบคทีเรียเจริญในน้ำอุดต้นก้านดอกทำให้ดูดน้ำไม่ได้ ดอกไม้จะเหี่ยวเร็ว
  • การตัดดอกทุกครั้งควรใช้ภาชนะพลาสติกที่สะอาดทุกครั้งใส่น้ำพอให้ท่วมก้านประมาณ 1–2 นิ้ว เป็นอย่างน้อย ให้น้ำอุณหภูมิ 38°C-43°C จะช่วยเร่งให้ก้านดอกดูดน้ำได้เร็วขึ้น เพื่อชดเชยกับน้ำที่เคยได้รับจากต้นแม่ทำให้ได้รับน้ำไม่ขาดตอน

สูตรสารเคมีอย่างง่ายในการช่วยให้ดอกไม้หลังตัดอยู่ได้ทนนาน

  • สูตรที่ 1 ผสมน้ำกับเครื่องดื่มเซเว่นอัพในอัตราส่วนที่เท่ากัน เติมน้ำยาซักผ้าขาวไฮเตอร์ 1 ช้อนชา
  • สูตรที่ 2 ใช้น้ำสะอาดประมาณ 1 ลิตรต่อน้ำมะนาว 2 ช้อนชา น้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะ เติมน้ำยาฟอกสี ½ ช้อนชา

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมของดอกไม้ปักแจกัน

  • วางแจกันไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิต่ำ ให้อยู่ห่างเตาไฟ
  • ดอกไม้ที่ตัดดอกแล้ว ไม่สามารถทนต่อแสงอาทิตย์โดยตรงได้ แต่แสงจากหลอดไฟจะช่วยยืดอายุดอกไม้ได้
  • ทำให้ใบสดมีสีเขียวนานกว่าปกติ
  • ควรตั้งแจกันบริเวณที่มีความชื้นสูง ถ้าอยู่ในที่ที่อากาศแห้งควรฉีดพ่นละอองน้ำให้ดอกไม้วันละ 1–2 ครั้ง
  • ไม่ควรวางแจกันในที่ที่มีลมโกรก และใกล้แหล่งผลิตก๊าซเอธิลีน เช่น ผลไม้สุก เตาแก๊ส การเผาไหม้ของน้ำมันและควันบุหรี่
เอกสารอ้างอิง
  • คู่มือแต่งสวนสวยด้วยไม้ดอก, บริษัทสารสาร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด
  • ต้นไม้ใบหญ้า, นายผล คนสวน, บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด
  • คู่มือการปลูกไม้ตัดดอก, สุปราณี วนิชชานนท์, สำนักพิมพ์เพื่อนเกษตร กรุงเทพมหานคร
  • ฮอร์โมนพืชและสารสังเคราะห์ แนวทางการใช้ประโยชน์ในประเทศไทย, พีรเดช ทองอำไพ, ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เกร็ดพรรณไม้

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง