ชะลูดช้าง

ชะลูดช้าง

ชะลูดช้าง ไม้เลื้อยประดับ

ชื่อสามัญ : Madagascar Jasmine, Creeping Tuberose

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Stephanotis floribunda

วงศ์ : APOCYNACEAE

ชื่ออื่น : ซ่อนกลิ่นเถา ช่อชลูด ชลูดช้าง

ถิ่นกำเนิด : มีถิ่นกำเนิดมาจากมาดากัสก้า

ลักษณะทั่วไป :

ต้น ชะลูดช้างเป็นไม้เถาเลื้อย เถามีขนาดเล็กกลมคล้ายเส้นลวด สีน้ำตาลอมเขียว มีจุดประสีน้ำตาล ทุกส่วนของชะลูดช้างมีน้ำยางสีขาว

ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเป็นคู่ตรงข้ามกันตามข้อของลำต้นหรือเถา ใบเป็นรูปรีหรือรูปไข่ ปลายใบเรียวแหลมเป็นติ่งเล็กน้อย โคนใบมนหรือเว้าเล็กน้อย ขอบใบเรียบยกขึ้นทางด้านบนทำให้ใบมีลักษณะเป็นราง แผ่นใบกว้างและหนา สีเขียวเข้มเป็นมันคล้ายแผ่นหนัง ใบกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร

ดอก ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ ช่อละ 5–10 ดอก ดอกมีลักษณะคล้ายหลอดหรือรูปกรวย กลีบเลี้ยงสีเขียว 5 กลีบโคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอดแคบยาว กลีบดอกหนา เนื้อดอกละเอียด สีขาวเป็นมัน ปลายดอกแยกออกเป็น 5 กลีบ ภายในดอกมีเกสรตัวผู้ติดอยู่ 5 อัน ตรงบริเวณโคนหลอดดอก มีอับเรณูเป็นแผ่นเหนียว ดอกบานมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2–2.5 เซนติเมตร บานอยู่ได้ 2 วัน ส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ ตลอดวัน และหอมแรงช่วงกลางคืน

ผลและเมล็ด ผลเป็นฝักคู่ ยาวประมาณ 8–10 เซนติเมตร เมล็ดมีขนเป็นพู่

ฤดูออกดอก : ชะลูดช้างออกดอกตลอดปี แต่จะให้ดอกดกมากช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม

การขยายพันธุ์ : ชะลูดช้างขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดและการปักชำกิ่ง แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะนิยมการปักชำกิ่งมากกว่า โดยการตัดกิ่งให้มีความยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร และนำมาปักในกระบะทรายที่มีความชื้น หลังจากนั้นประมาณ 6 สัปดาห์ ชะลูดช้างก็จะแตกรากใหม่ออกมา จึงนำไปปลูกได้

การปลูก :

ส่วนใหญ่แล้วนิยมปลูกชะลูดช้างเป็นไม้ประดับใส่กระถาง แล้วตัดแต่งทรงพุ่มให้เป็นไปตามโครงร่างที่ต้องการ หรืออาจปลูกลงในดินแล้วตัดแต่งทรงพุ่มตามต้องการ ดินปลูกควรมีส่วนผสมของใบไม้ผุและดินที่มีการระบายน้ำได้ดี ก็จะทำให้ชะลูดช้างเจริญงอกงามได้ดี

การดูแลรักษา :

แสง ชะลูดช้างเป็นไม้ที่ต้องการแสงแดดราวๆ ครึ่งวัน แต่ไม่ใช่แสงแดดโดยตรง หรือต้องการแสงแดดรำไร

ดิน ดินที่ใช้ปลูกควรเป็นดินที่อุคมสมบูรณ์ มีส่วนผสมของใบไม้ผุ เป็นดินที่มีการระบายน้ำได้ดี ไม่ขังแฉะ

น้ำ ชะลูดช้างเป็นไม้ที่ต้องการน้ำปานกลาง ควรรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ แต่อย่าให้แฉะเกินไป ในช่วงหนาวควรรดน้ำให้น้อยลง และให้ย้ายกระถางไปวางไว้ในห้องที่อบอุ่น พร้อมทั้งให้ริดใบออกบ้าง

ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ยหมักปีละ 2 ครั้ง บริเวณรอบโคนต้น

โรคและแมลง ชะลูดช้างเป็นไม้ที่ไม่มีปัญหาเรื่องโรคและแมลงรบกวน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง