ดอกอัญชัน พรรณไม้ในพุทธประวัติ

ดอกอัญชัน พรรณไม้ในพุทธประวัติ

ดอกอัญชัน ตามพุทธประวัติกล่าวว่าเมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ทรงกำหนดในพระทัยว่าจะแสดงธรรมแก่ปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ระหว่างทางเมื่อเสด็จถึงแม่น้ำคยา พระพุทธเจ้าได้ทรงพบอุปกาชีวก เดินสวนทางมา ฝ่ายอุปกะได้เห็นพระรัศมีของพระผู้มีพระภาคงดงามผ่องใส อย่างที่ไม่เคยเห็นมาแต่ก่อน พระรัศมีนั้นเรียกว่า “ฉัพพรรณรังสี” คือ พระรัศมี ๖ ประการ ได้แก่

๑. นีละ สีเขียวเหมือนดอกอัญชัน
๒. ปีตะ สีเหลืองเหมือนหรดาลทอง
๓. โลหิตะ สีแดงเหมือนแสงตะวันอ่อน
๔. โอทาตะ สีขาวเหมือนแผ่นเงิน
๕. มัญเชฐะ สีแสดเหมือนดอกหงอนไก่
๖. ประภัสสระ สีเลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก

ดอกอัญชัน พรรณไม้ในพุทธประวัติ
ชื่อพื้นเมือง: แดงชัน (เชียงใหม่), เอื้องชัน (ภาคเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์: Clitoria ternatea L.
ชื่อสามัญ: Butterfly pea, Blue pea
ชื่อวงศ์: FABACEAE
ถิ่นกำเนิด: อัญชันมีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียเขตร้อน ก่อนจะถูกนำไปแพร่พันธุ์ในแอฟริกา ออสเตรเลีย และอเมริกา
สภาพนิเวศน์: อัญชันเป็นไม้กลางแจ้งที่มีความต้องการแสงพอสมควร แต่ก็ไม่ถึงกับต้องการแสงจัดมาก ต้องการน้ำปานกลาง การรดน้ำจะต้องไม่ถึงกับแฉะ รดน้ำแต่พอชุ่มก็พอ ควรปลูกในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ ระบายน้ำได้ดี
ลักษณะทั่วไป: อัญชันเป็นไม้เลื้อยเนื้ออ่อน อายุสั้น ใช้ยอดเลื้อยพัน ลำต้นมีขนปกคลุม ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก เรียงตรงข้ามยาวประมาณ 6-12 เซนติเมตร มีใบย่อยรูปไข่ 5-7 ใบ กว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมน ผิวใบด้านล่างมีขนหนาปกคลุม ดอกเป็นดอกเดี่ยวออกเป็นคู่ตามซอกใบ รูปทรงคล้ายฝาหอยเชลล์ ดอกสีขาว ฟ้า และม่วง กลีบดอก 5 กลีบ ดอกบานเต็มที่ยาวประมาณ 2.5-3.5 เซนติเมตร กลีบคลุมรูปกลม ปลายเว้าเป็นแอ่ง ตรงกลางมีสีเหลือง มีทั้งดอกลาและดอกซ้อน ดอกลากลีบขั้นนอกมีขนาดใหญ่กลางกลีบสีเหลือง ส่วนกลีบชั้นในขนาดเล็ก แต่ดอกซ้อนกลีบดอกมีขนาดเท่ากัน ซ้อนเวียนเป็นเกลียว ออกดอกเกือบตลอดปี ผลแห้งแตกเป็นฝักแบน กว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร เมล็ดรูปไต สีดำ มีประมาณ 5-10 เมล็ด
การขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
ประโยชน์: ดอกอัญชันมีสาร “แอนโทไซยานิน” (Anthocyanin) ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ใช้ปลูกผม ทำให้ผมดกดำ เงางามมากขึ้น นำดอกมาคั้นน้ำใช้หุงข้าวช่วยให้ข้าวที่หุงมีสีสันที่สวยงาม เมล็ดใช้เป็นยาระบาย รากบำรุงตาแก้ตาฟาง ถูฟันแก้ปวดฟัน ตาแฉะ และปรุงเป็นยาขับปัสสาวะ


พรรณไม้ในพุทธประวัติ

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิงและรูปภาพจากเว็บไซต์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง