ต้นส้ม พรรณไม้ในพุทธประวัติ

ต้นส้ม พรรณไม้ในพุทธประวัติ

ต้นส้ม ตามพุทธประวัติกล่าวว่า ช่วงที่พระพุทธเจ้าทรงเสด็จไปอาศัยกับชฎิลอรุเวลกัสสป พระฤษีได้ทูลนิมนต์ภัตตภิจ พระองค์ทรงตรัสให้ไปก่อน แล้วทรงเสด็จไปเก็บผลหว้าจากชมพูทวีปวันหนึ่ง อีกวันหนึ่งก็ทรงไปเก็บผลมะม่วง ผลมะขามป้อม ผลส้ม แล้วเสด็จไปสู่ภพดาวดึงส์ เก็บดอกปาริฉัตตกะหรือดอกปาริฉัตร แต่ก็ทรงกลับมาถึงโรงบูชาเพลิงก่อนอุรุเวลกัสสป

จากหลักฐานสันนิษฐานว่าผลส้มที่พระพุทธเจ้าทรงเสด็จไปเก็บมานั้น น่าจะเป็นส้มป่าของอินเดีย ส้มมะงั่วหรือมะนาวควาย ที่ชาวพื้นเมืองเรียกว่า นิมบู มีชื่อทางพฤกษาศาสตร์ว่า Citrus medica L. เพราะมีการกระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปในอินเดีย มีการปลูกกันแพร่หลาย มีดอกผลตลอดปี ส้มมะงั่วหรือมะนาวควายไม่ใช่ไม้พื้นเดิมของไทย แต่ได้มีการนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยในภายหลัง


ชื่อพื้นเมือง: มะนาวควาย, มะนาวริปน, ส้มนาวคลาน, ส้มละโว้, หมากเว่อ (อีสาน), มะโว้ช้าง (เชียงใหม่)
ชื่อวิทยาศาสตร์: Citrus medica L.
ชื่อสามัญ: Citron, Etrog
ชื่อวงศ์: RUTACEAE
ถิ่นกำเนิด: ประเทศอินเดีย กระจายพันธุ์ไปจนถึงประเทศจีนและประเทศอิหร่าน
สภาพนิเวศน์: ชอบขึ้นที่ดินที่ชุ่มชื้น การระบายน้ำดี ต้องการแสงแดดมาก
ลักษณะทั่วไป: ส้มมะงั่ว หรือ มะนาวควาย เป็นไม้พุ่มขนาดกลางหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 3-5 เมตร ลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-15 เซนติเมตร มีกิ่งมาก เปลือกลำต้นสีเทาอ่อน ไม้เนื้ออ่อน ยอดอ่อนสีม่วงหรือเขียวอมม่วง กิ่งอ่อนสีอมม่วง เป็นเหลี่ยม กิ่งแก่กลม ผิวเกลี้ยง ใบเป็นใบประกอบชนิดลดรูปเหลือใบเดียว ออกสลับ ใบรูปขอบขนานกว้างหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ปลายใบมน โคนใบสอบ ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ก้านใบสั้น มีหนามแหลมตามซอกใบ หนามยาวกว่าก้านใบเล็กน้อย ดอกออกเป็นช่อตามซอกใบ มี 3-10 ดอก ช่อดอกสั้น ดอกสีชมพูหรือขาว มีกลีบเลี้ยง ๕กลีบ กลีบดอก ๕ กลีบ เกสรเพศผู้มีมาก ก้านเกสรติดกันเป็นกลุ่มๆ หรือแยกไม่ติดกัน มีกลิ่นหอม ผลทรงกลมยาว ผลทรงกลมยาว ผิวหยาบ ผลสดเปลือกเป็นปุ่มปมเล็กน้อย เปลือกหนา สีเหลือง มีกลิ่นหอม แต่ละกลีบขนาดเล็ก รสออกเปรี้ยว เมล็ดรูปไข่จำนวนมาก
การขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง ทาบกิ่ง และติดตา
ประโยชน์: ใช้เปลือกผลทำขนมหวานและเค้ก ใช้ทำน้ำหอม ในจีนใช้รากต้มน้ำรักษาอาการผิดปกติของระบบหายใจและปวดหลัง ผิวมะงั่วมีน้ำมันมากเรียกน้ำมันผิวมะงั่ว น้ำมะงั่วรสเปรี้ยว ใช้แก้ไอ ใช้เป็นน้ำกระสายยา


พรรณไม้ในพุทธประวัติ

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิงและรูปภาพจากเว็บไซต์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง