ต้นเกด พรรณไม้ในพุทธประวัติ

ต้นเกด พรรณไม้ในพุทธประวัติ

ต้นเกด หรือที่ชาวฮินดู เรียกว่า ครินี หรือ ไรนี ตามพระพุทธประวัติกล่าวว่าเมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้วทรงประทับเสวยวิมุติสุข ณ สถานที่ต่างๆ เป็นเวลา ๗ สัปดาห์ และในสัปดาห์ที่ ๗ สัปดาห์สุดท้ายแห่งการเสวยวิมุติสุข ทรงเสด็จไปประทับ ณ ใต้ต้นราชายตนะหรือต้นเกด ณ ต้นราชายตนะนี้เอง มีพ่อค้าพานิช ๒ พี่น้องเป็นชาวพม่า ชื่อ “ตปุสสะ” กับ “ภัลลิกะ” ได้พบพระพุทธเจ้ามีพระรัศมีอันผ่องใสงดงาม จึงเกิดความเลื่อมใส จึงนำข้าวสัตตุผง สัตตุก้อน ซึ่งเป็นเสบียงเดินทางของตนไปน้อมถวาย แด่พระพุทธเจ้า พระศาสดาได้ทรงแสดงธรรมแก่ทั้งสอง และเมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว ทั้ง ตปุสสะ และ ภัลลิกะ ก็เปล่งวาจาถึงพระพุทธเจ้าและพระธรรม เป็นสรณะตลอดชีวิต ทั้งสองจึงเป็น ‘เทฺววาจิกอุบาสก’ คืออุบาสกที่ถึงรัตนะทั้งสอง (ขณะนั้นยังไม่มีพระสงฆ์) เป็นคู่แรกในพระพุทธศาสนา

ต้นเกด พรรณไม้ในพุทธประวัติ
ชื่อพื้นเมือง: เกด
ชื่อบาลี: ราชายตน (รา-ชา-ยะ-ตะ-นะ), ชีริกา (ชี-ริ-กา), ราชายตนํ (รา-ชา-ยะ-ตะ-นัง)
ชื่อวิทยาศาสตร์: Manilkara hexandra Dub.
ชื่อสามัญ: Milkey Tree
ชื่อวงศ์: SAPOTACEAE
ถิ่นกำเนิด: ประเทศในแถบเอเชียใต้ อินเดีย พม่า และไทย
สภาพนิเวศน์: เกด พบขึ้นทั่วไปตามป่าที่เป็นดินทราย และดินปนหิน ในสภาพป่าที่ค่อนข้างแห้งแล้งทั่วไปในภูมิภาคเอเชีย มักเป็นพันธุ์ไม้หลักตามเกาะแก่งต่างๆ ที่เป็นเขาหินปูน ในประเทศไทยพบมากตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไป และมีมากตามเกาะต่างๆ ในอ่าวไทย
ลักษณะทั่วไป: ต้นเกด เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ลำต้นค่อนข้างเปลาตรง มีน้ำยางขาว เปลือกแตกร่อนเป็นสะเก็ดสีดำ เนื้อไม้สีน้ำตาลแดง เหนียวและแข็งมาก กิ่งมักคดงอเป็นข้อศอก เรือนพุ่มเป็นกลุ่มกลม ไม่ผลัดใบ ขณะที่ต้นยังเล็กปลายกิ่งและกิ่งจะมีลักษณะคล้ายหนามขนาดใหญ่และมีใบออกที่ปลายกิ่ง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเวียนสลับ รูปไข่กลับ ปลายใบผายกว้าง และมักหยักเว้าเข้า ใบเรียวสอบมาทางโคนใบ ผิวใบด้านบนเป็นมัน ผิวใบด้านล่างมีคราบขาว เส้นใบนานกันและค่อนข้างถี่ เนื้อใบหนา ดอกออกเป็นช่อกระจุก ช่อละ 3-5 ดอก ออกตามง่ามใบของกิ่งแขนง ดอกสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม ดอกบานกว้างประมาณ 0.7 เซนติเมตร กลีบดอกเป็นฝอยเล็กๆ ก้านดอกยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ผลกลมรี ขนาดประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร เมื่อสุกจะมีสีเหลืองแสด รับประทานได้ มีรสหวาน
การขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
ประโยชน์: ผลรับประทานทำให้ชุ่มคอ ลดอาการกระหายน้ำ เนื้อไม้ใช้ในการต่อเรือและไม้สลักแทนตะปูสำหรับ ติดกระดานกับโครงของเรือ เพราะถ้าใช้ตะปูจะเป็นสนิมง่ายไม่ทนทาน


พรรณไม้ในพุทธประวัติ

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิงและรูปภาพจากเว็บไซต์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง