ต้นโพธิ์ พรรณไม้ในพุทธประวัติ

ต้นโพธิ์ พรรณไม้ในพุทธประวัติ

ต้นโพธิ์ หรือที่ชาวลังกาเรียกว่า Bohd tree และที่ชาวอินเดียเรียกว่า Pipal นับได้ว่าเป็นต้นไม้ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในพุทธประวัติ เพราะเป็นต้นไม้พรรณไม้ในพุทธประวัติที่เจ้าชายสิทธัตถะกุมารในระหว่างบำเพ็ญพรตเพื่อหาสัจธรรมนั้น ได้ทรงเลือกนั่งประทับที่โคนต้นโพธิ์จนกระทั่งพระองค์ได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ เมื่อวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ กล่าวกันว่าต้นโพธิ์ที่พระพุทธองค์ประทับเพื่อรวบรวมพระหฤทัยให้บรรลุถึงสัจธรรมนั้น ได้ถูกประชาชนผู้นับถือศาสนาอื่นโค่นทำลายไปแล้ว แต่ด้วยบุญญาภินิหารเมื่อได้นำนมโคไปรดที่ราก จึงมีแขนงแตกขึ้นมาและมีชีวิตอยู่มาอีกนานก็ตายไปอีก แล้วกลับแตกหน่อขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง ต้นที่เหลืออยู่ในปัจจุบันนับว่าเป็นช่วงที่สามแล้ว

ต้นโพธิ์ พรรณไม้ในพุทธประวัติ
ชื่อพื้นเมือง: โพ โพศรีมหาโพ โพธิ (ภาคกลาง), ย่อง (แม่ฮ่องสอน), สลี (ภาคเหนือ), โพธิใบ
ชื่อบาลี: อสสตถ (อัด-สัด-ถุ), โพธิ (โพ-ทิ), อสสตโถ (อัด-สัด-โถ)
ชื่อวิทยาศาสตร์: Ficus religiosa L.
ชื่อสามัญ: Po Tree, Bodhi Three, Peepul of India, Pipal of India, Sacred Fig Tree, Pipal Tree, Bo Tree
ชื่อวงศ์: MORACEAE
ถิ่นกำเนิด: ต้นโพธิ์มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย และพบทั่วๆ ไปทั้งในศรีลังกาและทวีปเอเชีย
สภาพนิเวศน์: ขึ้นได้ในดินทั่วๆ ไป ไม่ชอบน้ำขังแฉะ แต่ก็ต้องมีความชุ่มชื้นพอควร
ลักษณะทั่วไป: ต้นโพธิ์เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ผลัดใบ แตกกิ่งก้านสาขาตรงส่วนยอดของลำต้น ออกเป็นพุ่ม ปลายกิ่งลู่ลง กิ่งอ่อนเกลี้ยง ตามกิ่งอาจมีรากอากาศห้อยลงมาบ้าง ลำต้นมีความสูงประมาณ 20-30 เมตร ลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-3 เมตร และมีน้ำยางสีขาว เปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลปนเทา โคนต้นเป็นพูพอนขนาดใหญ่ โดยจัดเป็นพรรณไม้ที่มีรูปทรงของลำต้นส่วนงามชนิดหนึ่ง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ใบเป็นรูปใจ ปลายใบแหลมและมีติ่งหรือหางยาวห้อยลง โคนใบมนเว้าเข้าหาก้านใบเป็นรูปหัวใจ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 8-15 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12-24 เซนติเมตร ผิวใบเกลี้ยงเป็นมัน เนื้อใบค่อนข้างเหนียว แผ่นใบเป็นสีเขียวนวลๆ ส่วนยอดอ่อนหรือใบอ่อนนั้นเป็นสีน้ำตาลแดง ก้านใบยาวและอ่อน มีความยาวได้ประมาณ 8-12 เซนติเมตร มีหูใบยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร หลุดร่วงได้ง่าย เมื่อลมพัดจะเห็นใบโพธิ์พลิ้วไปตามต้นใหญ่ดูสวยงาม ส่วนปลีที่หุ้มส่วนยอดอ่อนสีครีมหรือสีงาช้างอมชมพู ดอกออกเป็นช่อกลมๆ ที่ปลายกิ่ง รวมกันเป็นกระจุกภายในฐานรองดอกรูปคล้ายผล ดอกย่อยเป็นแบบแยกเพศ ไม่มีก้าน มีใบประดับเล็กที่โคน ฐานดอกเป็นรูปทรงกลม ดอกย่อยมีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ดอกเป็นสีเหลืองนวล ผลเป็นผลรวม มีลักษณะเป็นรูปทรงกลมขนาดเล็ก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.8 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีแดงคล้ำหรือม่วงดำ และร่วงหล่นลงมา
การขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ใช้กิ่งชำ หรือใช้กระโดงจากรากไปปลูก
ประโยชน์: น้ำจากเปลือกช่วยบรรเทาอาการปวดฟัน เปลือกต้นมีสรรพคุณช่วยสมานบาดแผล ห้ามเลือด ทำให้หนองแห้ง ใบมีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด แก้ไข้จับสั่น รักษาโรคคางทูม รักษาโรคท้องผูก ท้องร่วง ผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้โรคหัวใจ ช่วยขับพิษ แก้อาการกระหายน้ำ ใช้เป็นยาระบายและช่วยย่อย


พรรณไม้ในพุทธประวัติ

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิงและรูปภาพจากเว็บไซต์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง