บัวหลวง พรรณไม้ในพุทธประวัติ

บัวหลวง พรรณไม้ในพุทธประวัติ

ในพุทธประวัติกล่าวถึงสุบินนิมิตของพระนางสิริมหามายาว่า มีพระเศวตกุญชรใช้งวงจับดอกบัวหลวงสีขาวที่เพิ่งบานใหม่ๆ ส่งกลิ่นหอม และทำประทักษิณสามรอบ แล้วจึงเข้าสู่พระครรภ์พระนางสิริมหามายาด้านขวา วันรุ่งขึ้นพระนางได้ทรงกราบทูลแก่พระสวามี พระเจ้าสุทโธทนะ จึงทรงมีรับสั่งให้พราหมณ์ทำนายนิมิตฝันนั้น เหล่าพราหมณ์ทำนายว่า พระนางสิริมหามายาทรงพระครรภ์ พระองค์จักมีพระราชโอรส พระโอรสนั้นถ้าอยู่ครองราชก็จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ แต่ถ้าเสด็จออกบวชจักได้เป็นพระพุทธเจ้า

และตอนประสูติ เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติที่สวนลุมพินี ทรงบ่ายพระพักตร์ไปทางทิศอุดร และย่างพระบาทไป ๗ ก้าว มีดอกบัวผุดขึ้นมารองรับ ๗ ดอก ต่อมาเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเจริญพระชนมายุได้ ๗ พรรษา พระราชบิดาโปรดให้ขุดสระโบกขรณี ๓ สระ สำหรับพระราชโอรสทรงลงเล่นน้ำ โดยปลูกอุบลบัวขาบสระหนึ่ง ปลูกปทุมบัวหลวงสระหนึ่ง และปลูกบุณฑริกบัวขาวอีกสระหนึ่ง

บัวหลวง พรรณไม้ในพุทธประวัติ
ชื่อพื้นเมือง: โกกระณต, บัว, บัวอุบล, บัวฉัตร, บุณฑริก, ปุณฑริก, ปทุม, ปัทมา, สัตตบงกช, สัตตบุษย์, โช้ค (เขมร)
ชื่อบาลี: ปทุม (ปะ-ทุ-มะ), ปทุโม (ปะ-ทุ-โม), ปุณฑรีก (ปุน-ดะ-รี-กะ), สาลุก (สา-ลุ-กะ)
ชื่อวิทยาศาสตร์: Nelumbo nucifera Gaertn.
ชื่อสามัญ: Lotus, Sacred lotus, Egyptian lotus
ชื่อวงศ์: NELUMBONACEAE
ถิ่นกำเนิด: บัวหลวงมีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย
สภาพนิเวศน์: บัวหลวงขึ้นได้ในน้ำจืดที่สะอาด และที่ระดับน้ำลึกประมาณ 30-50 เซนติเมตร สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินเหนียว ออกดอกตลอดปี
ลักษณะทั่วไป: บัวหลวงเป็นพันธุ์ไม้น้ำ จัดเป็นไม้ล้มลุก มีอายุหลายปี ลำต้นมีทั้งเป็นเหง้าอยู่ใต้ดินและเป็นไหลอยู่เหนือดินใต้น้ำ เหง้ามีลักษณะเป็นท่อนยาว มีปล้องสีเหลืองอ่อนจนถึงเหลือง แข็งเล็กน้อย ถ้าตัดตามขวางจะเป็นรูกลมๆ หลายรู ไหลจะเป็นส่วนที่เจริญไปเป็นต้นใหม่ ใบเป็นใบเดี่ยวรูปเกือบกลม ใบอ่อนจะลอยปริ่มน้ำ ส่วนใบแก่จะชูขึ้นเหนือน้ำ ขนาดใบใหญ่ได้ถึงประมาณ 50 เซนติเมตร ขอบใบเรียบและเป็นคลื่น ผิวใบด้านบนมีนวลเคลือบอยู่ ก้านใบอยู่ตรงกลางของแผ่นใบ ก้านใบแข็งและเป็นหนาม หากตัดตามขวางจะเห็นรูอยู่ภายใน ก้านใบมีน้ำยางสีขาว เมื่อหักก้านจะมีสายใยสีขาวๆ ดอกเป็นดอกเดี่ยว มีสีขาว สีชมพู มีกลิ่นหอม มีกลีบเลี้ยง 4-5 กลีบ กลีบเลี้ยงมีขนาดเล็ก สีขาวอมเขียวหรือเป็นสีเทาอมชมพู ร่วงได้ง่าย กลีบดอกมีจำนวนมากและเรียงซ้อนกันอยู่หลายชั้น ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่กว้างประมาณ 5-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 7-9 เซนติเมตร เมื่อดอกบานเต็มที่มีขนาดประมาณ 20-25 เซนติเมตร ในดอกมีเกสรตัวผู้สีเหลืองอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีความยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร และล้อมรอบอยู่บริเวณฐานรองดอกซึ่งมีลักษณะเป็นรูปกรวยหงาย หรือที่เรียกว่า “ฝักบัว” ที่ปลายอับเรณูมีระยางคล้ายกระบองเล็กๆ สีขาว ส่วนเกสรตัวเมียมีรังไข่ฝังอยู่ในฐานรองดอก เมื่ออ่อนเป็นสีเหลือง หากแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเขียว ช่องรังไข่เรียงเป็นวงบนผิวหน้าตัด มีจำนวน 5-15 อัน ก้านดอกสีเขียว ลักษณะยาวและมีหนามเหมือนก้านใบ โดยก้านดอกจะชูขึ้นเหนือน้ำและชูขึ้นสูงกว่าก้านใบเล็กน้อย ดอกบัวหลวงจะเริ่มบานในตอนเช้า ออกดอกและผลในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนธันวาคม ผลจะฝังอยู่ในส่วนที่เป็นฝักรูปกรวยในดอก ฝักอ่อนจะเป็นสีเหลือง เมื่อแก่จะขยายใหญ่ขึ้นและเปลี่ยนเป็นสีเทาอมเขียว โดยจะมีผลรูปกลมรีสีเขียวนวลฝังอยู่ในฝักรูปกรวยเป็นจำนวนมาก เมล็ดมีความกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ในเมล็ดมีดีบัวหรือต้นอ่อนที่ฝังอยู่กลางเมล็ดมีสีเขียว
การขยายพันธุ์: บัวหลวงขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด แยกไหลไปปลูก เมล็ดบัวแม้ว่าจะร่วงจากฝักนานแล้วก็สามารถเพาะขึ้นได้
ประโยชน์: เหง้าและไหลใช้เป็นอาหาร เมล็ดใช้เป็นอาหารคาวหวาน ทำแป้ง รากและเม็ดบัวมีรสหวานเย็นและมันเล็กน้อย ช่วยบำรุงกำลัง ใช้เป็นยาชูกำลัง แก้อาการอ่อนเพลีย ดอกบัวสดสีขาวใช้ต้มกับน้ำดื่มบรรเทาอาการอ่อนเพลีย ทำให้สดชื่นขึ้น และช่วยลดอาการใจสั่น เกสรบัวหลวงนำมาใช้ปรุงเป็นยาหอม เป็นยาชูกำลัง บำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ ทำให้ชุ่มชื่นใจ


พรรณไม้ในพุทธประวัติ

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิงและรูปภาพจากเว็บไซต์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง