ต้นมะขามป้อม พรรณไม้ในพุทธประวัติ

ต้นมะขามป้อม พรรณไม้ในพุทธประวัติ

มะขามป้อม หรือที่ชาวฮินดูเรียกว่า อะมะลา หรือ อะมะลิกา ตามพระพุทธประวัติกล่าวว่า ช่วงที่พระพุทธเจ้าทรงเสด็จไปอาศัยกับชฎิลอรุเวลกัสสป พระฤษีได้ทูลนิมนต์ภัตตภิจ พระองค์ทรงตรัสให้ไปก่อน แล้วทรงเสด็จไปเก็บผลหว้าจากชมพูทวีปวันหนึ่ง อีกวันหนึ่งก็ทรงไปเก็บผลมะม่วง ผลมะขามป้อม ผลส้ม แล้วเสด็จไปสู่ภพดาวดึงส์ เก็บดอกปาริฉัตตกะหรือดอกปาริฉัตร แต่ก็ทรงกลับมาถึงโรงบูชาเพลิงก่อนอุรุเวลกัสสป

ต้นมะขามป้อม พรรณไม้ในพุทธประวัติ
ชื่อพื้นเมือง: กันโตด (เขมร-จันทบุรี), กำทวด (ราชบุรี), มั่งลู่ สันยาส่า (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ชื่อบาลี: อมตา (อะ-มะ-ตา), อามาลกี (อา-มะ-ละ-กี), อามลก (อา-มะ-ละ-กะ), อามลโก(อา-มะ-ละ-โก)
ชื่อวิทยาศาสตร์: Phylanthus emblica L.
ชื่อสามัญ: Emblic Myrabolan, Malacca Tree, Indian Gooseberry, Amala Plant, Amalak Tree
ชื่อวงศ์: EUPHORBIACEAE
ถิ่นกำเนิด: พบได้ทั่วไปในป่าเขตร้อนแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง มักขึ้นตามธรรมชาติในป่าเบญจพรรณแล้ง ป่าเต็งรัง และป่าแดง
สภาพนิเวศน์: ชอบดินที่มีการระบายน้ำได้ดี เช่น ดินปนทราย และดินลูกรัง
ลักษณะทั่วไป: มะขามป้อมเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ผลัดใบ แต่จะผลิใบใหม่เร็วมาก เปลือกสีเขียวอ่อนปนเทา กิ่งห้อยย้อยลง เรือนพุ่มรูปร่มกาง ใบเป็นใบเดี่ยว สีเขียวอ่อนๆ ออกสลับเรียงแถวในระนาบเดียวกัน ใบรูปขอบขนาน ออกเป็นช่อ ดูคล้ายใบประกอบแบบขนนกเพราะใบมีขนาดเล็กมาก เล็กกว่าใบมะขาม ช่อใบแต่ละช่อยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อ กระจุกอยู่ตรงโคนของกิ่งย่อย ยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร ดอกมีขนาดเล็กสีเขียวอ่อนปนเหลือง ดอกแยกเพศ ดอกเพศผู้และเพศเมียอยู่ต่างดอกกัน แต่อยู่ในกิ่งเดียวกัน ผลกลม มีรอยเป็นแนวยาวตามผิวผล 6 แนว ผลแก่สีเหลืองอ่อนใสๆ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร รสเปรี้ยวอมฝาด มีเมล็ดกลมแข็งมี 1 เมล็ด
การขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
ประโยชน์: เปลือกต้นต้มน้ำดื่มแก้ไอ ผลสดรับประทานได้ มีรสเปรี้ยวๆ ฝาดๆ มีวิตามินซีสูง ใช้รักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน ใช้แก้ไอ ขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ ช่วยลดอาการกระหายน้ำ ใบสดและเปลือกต้นใช้ย้อมผ้าให้สีน้ำตาลแกมเหลือง


พรรณไม้ในพุทธประวัติ

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิงและรูปภาพจากเว็บไซต์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง