หิรัญญิการ์

หิรัญญิการ์

หิรัญญิการ์ ไม้เลื้อยประดับ
ชื่อสามัญ : Nepal Trumpet, Easter Lily Vine, Herald trumpet

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Beaumontia grandiflora Wall.

วงศ์ : APOCYNACEAE

ชื่ออื่น : เถาตุ้มยำช้าง (ภาคเหนือ), หิรัญญิการ์ (ภาคกลาง)

ถิ่นกำเนิด : หิรัญญิการ์มีถิ่นกำเนิดในประเทศเนปาล จีน อินเดีย และประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย

ลักษณะทั่วไป :

ต้น ต้นหิรัญญิการ์เป็นไม้เถาใหญ่เนื้อแข็ง แตกกิ่งก้านสาขาแผ่เป็นพุ่มแน่นเฉพาะที่ส่วนยอดหรือบริเวณที่ได้รับแสงแดดอย่างเต็มที่ ลำเถาเลื้อยยาวและมักเลื้อยพาดพันกับต้นไม้อื่น สามารถเลื้อยไปได้ไกลประมาณ 15 เมตร ทุกส่วนของลำต้นหรือเถามียางสีขาวข้น ส่วนยอดหรือส่วนอื่นๆ ที่ยังอ่อนอยู่จะมีขนสีน้ำตาลอมแดงขึ้นปกคลุม

ใบ หิรัญญิการ์เป็นใบเดี่ยว ออกใบเป็นคู่ตรงข้ามกันตามข้อต้น ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับหรือรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบแหลมเป็นติ่ง โคนใบมน ขอบใบเรียบเกลี้ยงไม่มีจัก ใบหยาบหนา ด้านบนเรียบเป็นมัน ใต้ท้องใบเห็นเส้นใบได้ชัดเจน มีประมาณ 10-14 คู่ ใบมีความยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 4-6 เซนติเมตร ก้านใบยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร

ดอก ดอกหิรัญญิการ์ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง แต่ละช่อมีดอกประมาณ 5-15 ดอก และจะทยอยบานครั้งละประมาณ 2-4 ดอก ดอกตูมเป็นสีเหลืองอ่อนหรือสีเหลืองอมเขียว เมื่อบานจะเป็นสีขาว ดอกมีขนาดใหญ่ มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกมีลักษณะคล้ายถ้วยหรือรูปปากแตร โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ตอนปลายของดอกบานกว้าง มีกลีบดอก 5 กลีบ ปลายกลีบดอกมนหยักเป็นคลื่นๆ กลีบดอกเป็นสีขาวสะอาด มีแต้มด้วยจุดสีเขียวเรื่อๆ ที่ใจกลางกลีบดอกมีเกสรตัวผู้เชื่อมติดอยู่กับเนื้อบริเวณโคนกลีบดอก กลีบละ 1 อัน ก้านเกสรแต่ละอันมีลักษณะเป็นเส้นยาว แยกออกจากกันเป็นอิสระ แล้วโค้งอับเรณูมาประกบติดกัน อับเรณูจะค่อนข้าวยาว ลักษณะคล้ายหัวลูกศร ตุ่มเกสรเพศเมียอยู่ภายในบริเวณของอับเรณูทั้ง 5 อัน รังไข่ตั้งอยู่ที่ฐานกลีบดอกซึ่งเป็นหลอดแคบๆ มีน้ำหวานขังอยู่รอบนอก ดอกเมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 10-14 เชนติเมตรและยาวประมาณ 13 เซนติเมตร ก้านช่อดอกและก้านดอกมีขนละเอียดสีน้ำตาลปนแดงปกคลุมอยู่ทั่วไป ก้านดอกยาวประมาณ 2-3.2 เซนติเมตร

ผลและเม็ด ออกผลเป็นฝัก ยาวประมาณ 12-30 เซนติเมตร เปลือกหนาและแข็งมาก ฝักเมื่อแก่จะแตกออกเป็น 2 ซีก ภายในมีเมล็ดแบนๆ สีน้ำตาลอยู่เป็นจำนวนมาก ยาวประมาณ 1.7 เซนติเมตร ส่วนปลายของเมล็ดมีขนยาวอ่อนนุ่มติดอยู่เป็นกระจุก ยาวประมาณ 3.5-5 เซนติเมตร

ฤดูออกดอก : หิรัญญิการ์ออกดอกระหว่างเดือน ธันวาคม-กุมภาพันธ์

การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และการปักชำกิ่ง

การปลูก :

หิรัญญิการ์เป็นไม้กลางแจ้งที่ปลูกง่าย มีวิธีการปลูกโดยการนำต้นกล้าที่ได้จาการเพาะเมล็ด หรือกิ่งที่ได้จากการตอนมาปลูก โดยขุดหลุมปลูกให้มีความกว้างลึกประมาณ 30 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักประมาณ 1/4 ของหลุม กลบดินเล็กน้อย แล้วจึงวางด้นกล้าหรือกิ่งตอนลงกลางหลุมกลบดินพอแน่น แล้วรดน้ำให้ชุ่ม

การดูแลรักษา :

แสง หิรัญญิการ์เป็นไม้กลางแจ้งที่ชอบแสงแดดจัด

ดิน เป็นไม้ที่ขึ้นได้ดีในดินแทบทุกชนิด

น้ำ ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง แต่ไม่ควรให้ขาดน้ำหรือให้น้ำมากจนแฉะขัง

ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักปีละ 2-3 ครั้ง

โรคและแมลง ไม่มีโรคและแมลงรบกวนมากนัก

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง