บอนสี Caladium – ลักษณะโดยทั่วไป

บอนสี Caladium
ลักษณะโดยทั่วไป

หัว

มีลักษณะคล้ายหัวมันฝรั่งหรือหัวเผือก มีรากฝอยขนาดเล็กแตกออกรอบๆ หัว และที่ใกล้ๆ กับรากหรือระหว่างรากจะมีหน่อเล็กๆ หรือที่เรียกกันว่า เขี้ยว ซึ่งสามารถงอกออกเป็นบอนต้นใหม่ได้

กาบและก้านใบ

คือส่วนที่ต่อจากหัวบอน กาบเป็นส่วนโคนของก้านใบ แต่ไม่กลมเหมือนก้านใบ คือมีลักษณะเป็นกาบคล้ายกาบของใบผักกาดเป็นที่พักของใบอ่อน ส่วนก้านใบคือส่วนที่ต่อจากกาบใบขึ้นไปยังใบบอน ที่กาบและก้านใบนี้จะมีลักษณะของสีที่แตกต่างไปจากสีของกาบและใบอย่างเห็นได้ชัด ลักษณะของสีนี้เรียกแตกต่างกันไป ดังนี้

  • สะพาน มีลักษณะเป็นเส้นขีดเล็กๆ ยาวจากกาบไปตลอดแนวก้านใบขึ้นไปจรดคอใบ ถ้าอยู่ด้านหน้าเรียกสะพานหน้า ถ้าอยู่ด้านหลังเรียกสะพานหลัง
  • เสี้ยน มีลักษณะเป็นจุด เป็นขีด หรือเส้นเล็กๆ สั้นยาวไม่เท่ากันและมีสีต่างกับก้าน กระจายอยู่รอบๆ ก้านใบ
  • สาแหรก มีลักษณะเป็นเส้นเล็กๆ บริเวณโคนก้านใบหรือกาบใบ วิ่งจากบริเวณโคนของกาบใบไปตามก้านใบเป็นเส้นสั้นๆ ไม่ยาวเหมือนสะพาน อาจเป็นเส้นเดี่ยว เส้นคู่ หรือหลายเส้นก็ได้

ลักษณะต้นบอนสี

แข้ง

คือส่วนที่ยื่นออกจากก้านใบ คล้ายใบเล็กๆ อยู่กึ่งกลางก้านหรือต่ำกว่าใบจริง อาจมี 1 หรือ 2 ใบขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ และมักพบในบอนสีประเภทใบกาบ

คอใบ

คือ ช่วงปลายของก้านใบไปถึงสะดือใบ

สะดือ

คือ ส่วนปลายสุดของก้านใบจรดกับกระดูก

กระดูก

คือ เส้นกลางใบที่ลากจากสะดือไปจนสุดปลายใบ

เส้น

คือ เส้นใบย่อยที่แยกจากกระดูกหรือเส้นกลางใบ

ใบ

ของบอนสีมีขนาดและรูปแบบของใบแตกต่างกันออกไป ซึ่งสามารถแบ่งรูปแบบของใบได้ 4 ลักษณะ คือ

  • บอนใบไทย เป็นบอนสีที่มีมาแต่โบราณ มีรูปร่างคล้ายหัวใจ หูใบยาวแต่ไม่ฉีกถึงสะดือ ก้านใบอยู่กิ่งกลางใบ ปลายใบแหลมหรือมนขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ บอนใบไทยมักมีใบขนาดใหญ่ สีสันสวยงาม และใบดกไม่ทิ้งใบ
  • บอนใบกลม เป็นบอนที่นับได้ว่าเกิดขึ้นโดยฝีมือคนไทย เกิดขึ้นโดยการผ่าหัวขยายพันธุ์ของบอนใบไทยเมื่อนำมาปลูกเลี้ยงแล้วเกิดผิดแผกไปจากต้นเดิม คือมีลักษณะใบกลมขึ้นกลายเป็นบอนใบกลม ปลายใบมนสม่ำเสมอ และมีก้านใบอยู่บริเวณกิ่งกลางใบ
  • บอนใบกาบ เป็นบอนที่มีก้านใบแผ่แบนตั้งแต่โคนใบจนถึงคอใบ ลักษณะคล้ายใบผักกาด
ใบไทย ใบกลม ใบกาบ
  • บอนใบยาว ซึ่งแต่เดิมเรียกว่าบอนใบจีน มีรูปใบเรียวหรือป้อม หูใบสั้นกลมฉีกถึงสะดือ ก้านใบอยู่ตรงรอยหยักบริเวณโคนใบพอดี บอนใบยาวแบ่งได้ 3 ลักษณะ คือ
    1. ใบยาวธรรมดา เป็นบอนที่มีใบยาว ปลายเรียวแหลม หูใบยาวกลมคล้ายใบโพธิ์ บางพันธุ์มีสะโพกกว้าง
    2. ใบยาวรูปหอก เป็นบอนที่มีใบเรียว ปลายใบเรียวแหลม หูใบสั้นหรือบางพันธุ์ไม่มีหูใบเลย
    3. ใบยาวรูปใบไผ่ เป็นบอนที่มีใบแคบเรียวยาวเป็นเส้น ปลายใบเรียวแหลม ไม่มีหูใบ มีลักษณะคล้ายใบของต้นไผ่
ใบยาว ใบหอก ใบไผ่

พื้นใบ

คือ ส่วนหน้าของใบทั้งหมด บนพื้นใบนี้จะเห็นลักษณะของสีที่แตกต่างกันไปตามพันธุ์ของบอนสี ซึ่งเรียกต่างกันไปดังนี้

  • เม็ด คือจุดหรือแต้มสีบนใบ มีขนาดใหญ่เล็กแตกต่างกัน และมีสีต่างจากสีของพื้นใบ
    มีลักษณะของสีและขนาดแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ และมีลักษณะต่างๆ กัน ดังนี้

    • เม็ดลอย คือ จุดหรือแต้มสีบนใบ ที่มีสีต่างกับสีพื้นใบ อย่างชัดเจน
    • เม็ดจม คือ จุดหรือแต้มสีบนใบ ที่มีสีกลมกลืนกับสีพื้นใบ
    • เม็ดใหญ่ คือ จุดหรือแต้มสีที่มีขนาดใหญ่กระจายทั่วใบ
    • เม็ดเล็ก คือ จุดหรือแต้มสีที่มีขนาดเล็กกระจายทั่วใบ
    • เม็ดถี่ คือ จุดหรือแต้มสีที่กระจายถี่ๆ อยู่ทั่วใบ
    • เม็ดห่าง คือ จุดหรือแต้มสีที่กระจายห่างๆ อยู่ทั่วใบ
  • วิ่งพร่า คือ เส้นเล็กๆ ที่มีสีต่างไปจากกระดูกหรือเส้น และวิ่งขนานไปทั้งสองข้างของกระดูกและเส้น เช่น กระดูกเขียว เส้นเขียว และมีเส้นสีขาวขนานไปทั้งสองข้างของกระดูกและเส้น ลักษณะนี้เรียกว่า กระดูกเขียว เส้นเขียว วิ่งพร่าขาว
  • หนุนทราย คือ จุดสีเม็ดเล็กๆ ละเอียดมากคล้ายเม็ดทราย กระจายทับบนสีของพื้นใบ จนมองคล้ายมีสองสี เช่น พื้นใบสีชมพู แต่จะไม่เป็นสีชมพูอย่างชัดเจน เพราะมีเม็ดสีเขียวละเอียดๆ กระจายกระจายทั่วพื้นใบ ลักษณะนี้เรียกว่า พื้นใบสีชมพูหนุนทรายเขียว
  • ป้าย คือ บอนที่มีบริเวณของสีอื่นที่ต่างไปจากสีของพื้นใบอย่างเห็นได้ชัดป้ายทับอยู่ เช่น บอนที่มีพื้นใบสีเขียวแล้วมีสีแดงป้ายทับ พื้นใบเขียวป้ายแดง

หูใบ

คือช่วงส่วนล่างของใบที่ยื่นออกจากสะดือใบแยกออกเป็นสองส่วน สั้นหรือยาวขึ้นอยู่กับพันธุ์ของบอนสี บางพันธุ์ก็ไม่มีหูใบเลย

หูใต้ใบ

คือส่วนที่เป็นติ่งเล็กๆ ยื่นออกมาจากใต้ใบบริเวณกระดูกหรือเส้นกลางใบ พบเห็นได้เฉพาะบอนสีบางพันธุ์เท่านั้น

สะโพก

คือส่วนด้านข้างของใบทั้งสองข้าง อยู่บริเวณเหนือหูใบหรือแนวตรงกับสะดือใบ มีลักษณะเว้าคอดลง จะเห็นได้ชัดเจนในบอนใบไทย

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง