กระเทียม (Garlic)

กระเทียม (Garlic)

กระเทียมเป็นพืชสมุนไพรไทยชนิดหนึ่งและถูกจัดอยู่ในประเภทเครื่องเทศเช่นกัน กระเทียมมีลักษณะกลมแป้นประกอบด้วยกลีบที่ห่อหุ้มด้วยเปลือกสีขาว เนื่องจากช่วยดับกลิ่นคาวและเพิ่มรสชาติให้อาหารมีความเข้มข้นยิ่งขึ้น จึงนำมาใช้ประกอบอาหารได้หลากหลายชนิดทั้ง แกง ผัด ยำ อาหารประเภททอด ใส่ในผัดต่างๆ ผัดผักบุ้ง ผัดกระเพรา หรือสับละเอียดแล้วเจียวให้เหลืองใส่ในข้าวต้ม แกงจืด นำไปผสมกากหมูเจียวใส่เป็นเครื่องแต่งกลิ่นในก๋วยเตี๋ยวต่างๆ หรือนำมาโขลกกับรากผักชีและพริกไทยเป็นเครื่องหมักอาหาร เช่น ผสมกับเนื้อหมูบดใส่ในแกงจืด หมักเนื้อไก่ย่าง และเป็นส่วนผสมในน้ำพริกแกงต่างๆ ประโยชน์ของกระเทียมมีมากมาย โดยเฉพาะสรรพคุณทางยาที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ เช่น ลดความดันโลหิต ลดระดับไขมัน คอเลสเตอรอลและน้ำตาลในเลือด ขับลม ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ ขับประจำเตือน ขับพยาธิไส้เดือน ลดอาการอักเสบบวม ฆ่าเชื้อ แก้โรคผิวหนัง เป็นยาฆ่าแมลง น้ำมันกระเทียมใช้ทาแก้แมลงกัดต่อย ในกระเทียมประกอบด้วย เซเลเนียม ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่ทำหน้าที่เป็นตัวประสานการทำงานของเอนไซม์ระหว่างวิตามินอี และวิตามินซี

กระเทียม (Garlic) พืชเครื่องเทศ
ชื่อสามัญ : Garlic, Common Garlic
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Allium sativum L.
วงศ์ : AMARYLLIDACEAE
ชื่ออื่น : กระเทียม (ภาคกลาง) หอมเทียม (ภาคเหนือ) หอมขาว (ภาคอีสาน) เทียม, หอมเทียม (ภาคใต้)
ลักษณะทั่วไป : กระเทียมเป็นไม้ล้มลุก สูงประมาณ 30-60 เซนติเมตร มีหัวอยู่ใต้ดิน ลักษณะกลมแป้น เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-4 เซนติเมตร แต่ละหัวมี 6-10 กลีบ เรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ แต่ละกลีบมีเปลือกหรือกาบสีขาวหรือม่วงอมชมพูหุ้มอยู่ 2-4 ชั้นโดยรอบ ลอกออกได้และสามารถแยกออกจากหัวเป็นอิสระได้ ใบเป็นใบเดี่ยว รูปขอบขนาน แบนและแคบยาว ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ กว้างประมาณ 0.5-2.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 30-60 เซนติเมตร ขึ้นมาจากดิน เรียงซ้อนสลับ โคนแผ่เป็นแผ่นและเชื่อมติดกันเป็นวงหุ้มรอบใบที่อ่อนกว่าและก้านช่อดอกทำให้เกิดเป็นลำต้นเทียม ปลายใบสีเขียวและสีจะค่อยๆ จางลงจนกระทั่งถึงโคนใบ ส่วนที่หุ้มหัวอยู่มีสีขาวหรือขาวอมเขียว ดอกออกเป็นช่อแบบช่อซี่ร่ม ประกอบด้วยตะเกียงรูปไข่เล็กๆ จำนวนมากอยู่ปะปนกับดอกขนาดเล็กซึ่งมีจำนวนน้อย มีใบประดับใหญ่ 1 ใบ ยาวประมาณ 7.5-10 เซนติเมตร ลักษณะบาง ใส แห้ง เป็นจะงอยแหลมหุ้มช่อดอกขณะที่ยังตูมอยู่ แต่เมื่อช่อดอกบานใบประดับจะเปิดอ้าออกและห้อยลงรองรับช่อดอกไว้ ก้านช่อดอกเป็นก้านโดด เรียบ รูปทรงกระบอกตัน ยาวประมาณ 40-60 เซนติเมตร ดอกสมบูรณ์เพศ กลีบรวม 6 กลีบ แยกจากกันหรือติดกันที่โคน รูปใบหอกปลายแหลม ยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร สีขาวหรือขาวอมชมพู เกสรเพศผู้ 6 อัน ติดที่โคนกลีบรวม อับเรณูและก้านเกสรเพศเมียยื่นขึ้นมาสูงกว่าส่วนอื่นๆ ของดอก รังไข่ 3 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 1-2 เม็ด ผลเล็กเป็นกระเปาะสั้นๆ รูปไข่หรือค่อนข้างกลม มี 3 พู เมล็ดเล็ก สีดำ
การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์โดยการชำกลีบกระเทียม
การปลูก : ดินที่เหมาะสมสำหรับการปลูกกระเทียม ควรเป็นดินที่ร่วนซุย ระบายน้ำได้ดี กระเทียมควรได้รับน้ำอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอในช่วงระหว่างเจริญเติบโต 7-10 วัน/ครั้ง โดยสังเกตจากใบกระเทียมถ้าเริ่มเหี่ยวต้องรีบให้น้ำทันที ควรงดการให้น้ำเมื่อกระเทียมแก่จัด ก่อนเก็บเกี่ยว 2-3 สัปดาห์
สรรพคุณ : ลดความดันโลหิต ลดระดับไขมัน คอเลสเตอรอลและน้ำตาลในเลือด ขับลม ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ ขับประจำเตือน ขับพยาธิไส้เดือน ลดอาการอักเสบบวม ฆ่าเชื้อ แก้โรคผิวหนัง เป็นยาฆ่าแมลง น้ำมันกระเทียมใช้ทาแก้แมลงกัดต่อย ในกระเทียมประกอบด้วย เซเลเนียม ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่ทำหน้าที่เป็นตัวประสานการทำงานของเอนไซม์ระหว่างวิตามินอี และวิตามินซี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง