ว่าด้วยเรื่องของดอกไม้

ว่าด้วยเรื่องของดอกไม้

“ดอก…ไม้…ดอกไม้…จะบาน……” เมื่อกล่าวถึงดอกไม้ ก็เป็นที่รู้กันว่าดอกไม้คือสุดปรารถนาของผู้ที่ชื่นชอบการปลูกต้นไม้ ผู้ปลูกต้นไม้ส่วนใหญ่ปลูกเลี้ยงก็เพื่อหวังจะได้ชื่นชมดอกไม้ ไม่ว่าจะเพื่อความสวยงาม เพื่อได้สูดกลิ่นหอม หรือเพื่อหวังผลเมื่อดอกโรยไปแล้ว จึงบอกได้ว่าดอกไม้คือส่วนสำคัญของการปลูกต้นไม้ นอกจากประโยชน์ที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ในแง่ของพฤกษศาสตร์ ดอกไม้ยังมีส่วนสำคัญในการจำแนกชนิดของต้นไม้อีกด้วย ถ้าจะให้ได้ชื่อว่าเป็นแฟนพันธุ์แท้ดอกไม้ ตัวจริงละก็…มาดูกันว่า ดอกไม้มีส่วนประกอบอะไร และมีการจำแนกประเภทกันอย่างไร…..

ส่วนประกอบของดอกไม้

ดอกไม้ (flower) คือส่วนของพืชที่เจริญและเปลี่ยนแปลงมาเพื่อทำหน้าสืบพันธุ์ ซึ่งดอกไม้ทั่วไปประกอบด้วยส่วนสำคัญ 4 ส่วน โดยแต่ละส่วนจะเรียงกันเป็นชั้นหรือเป็นวงบนฐานรองดอก คือ

ส่วนประกอบของดอกไม้

1.วงกลีบเลี้ยง (Calyx)

แต่ละกลีบเรียกว่า กลีบเลี้ยง (Sepal) เป็นส่วนที่อยู่ชั้นนอกสุด มักมีสีเขียวเนื่องจากเจริญมาจากใบ ทำหน้าที่ห่อหุ้มป้องกันอันตรายให้แก่ส่วนอื่นๆ และช่วยในการสังเคราะห์แสง กลีบเลี้ยงที่อยู่แยกกันเป็นกลีบๆ เรียกว่า อะโปเซพิลัส (Aposepalous) หรือ พอลิเซพิลัส (Polypalous) เช่น ดอกบัว ดอกพุทธรักษา บางชนิดกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเรียก แกมโมเซพิลัส (Gamosepalous) หรือ ซินเซพิลัส (Synsepalous) เช่น ชบา บานบุรี พืชบางชนิดอาจมีกลีบเลี้ยงสีอื่นนอกจากสีเขียวซึ่งจะทำหน้าที่ล่อแมลงในการผสมเกสรเช่นเดียวกับกลีบดอก พืชบางชนิดมี ริ้วประดับ (Epicalyx) เป็นกลีบเล็กๆ ใกล้กลีบเลี้ยง เช่น ชบา พู่ระหง พืชบางชนิดกลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีลักษณะเหมือนกันจนแยกไม่ออกเรียกว่า วงกลีบรวม (Perianth) และเรียกแต่ละกลีบว่า กลีบรวม (Tepal) ได้แก่ บัวหลวง จำปี จำปา

2.วงกลีบดอก (Corolla)

แต่ละกลีบเรียกว่า กลีบดอก (Petal) คือส่วนของดอกที่อยู่ถัดจากกลีบเลี้ยงเข้ามาข้างใน มีสีสันต่างๆ สวยงามเนื่องจากมีรงควัตถุชนิดต่างๆ ภายในเซลล์ ส่วนกลีบดอกที่มีสีขาวจะไม่มีรงควัตถุภายในเซลล์ของกลีบดอก นอกจากนี้บางชนิดกลีบดอกมีกลิ่นหอม เช่น กุหลาบ มะลิ กระดังงา ราตรี สายหยุด พืชบางชนิดตรงโคนกลีบดอกจะมีต่อมน้ำต้อยหรือน้ำหวานไว้ล่อแมลงเพื่อช่วยในการผสมเกสร กลีบดอกที่อยู่แยกกันเป็นอิสระ เรียกว่า อะโปเซพิลัส (Aposepalous) หรือ พอลิเซพิลัส (Polypalous) เช่น กุหลาบ ชบา มะลิ บัว กลีบดอกเชื่อมติดกันเรียก แกมโมเซพิลัส (Gamosepalous) หรือ ซินเซพิลัส (Synsepalous) เช่น มะเขือ ผักบุ้ง เข็ม กลีบดอกทั้ง 2 ประเภท มีลักษณะรูปทรงเฉพาะ คือ

2.1 กลีบดอกแยกเป็นอิสระ มีรูปทรงเฉพาะ ดังนี้

  • รูปกากบาท ประกอบด้วยกลีบดอก 4 กลีบ แต่ละคู่ตั้งฉากกัน
  • รูปดอกถั่ว ประกอบด้วยกลีบดอก 5 กลีบ แบ่งเป็น 3 ขนาด กลีบใหญ่อยู่ด้านบนเรียก กลีบกลาง กลีบข้าง 1 คู่เรียกกลีบคู่ข้าง และกลีบคู่ล่างเชื่อมกันเป็นกระโดงเรียกว่ากลีบคู่ล่าง
  • รูปดอกหางนกยูง ประกอบด้วยกลีบดอก 5 กลีบ ซึ่ง 4 กลีบมีรูปร่างคล้ายคลึงกัน ส่วนกลีบบนสุดมีขนาดและรูปร่างแตกต่างกันไป

2.2 กลีบดอกเชื่อมติดกัน มีรูปแบบต่างๆ ดังนี้

รูปวงล้อ rotate

รูปวงล้อ rotate

กลีบดอกจะเชื่อมติดกันและแผ่ออกคล้ายรูปวงล้อ เช่น ชวนชม กันเกรา

รูปดอกเข็ม salverform

รูปดอกเข็ม salverform

กลีบดอกเชื่อมติดกันคล้ายรูปกรวยแคบยาว ปลายกลีบบานออก เช่น ดอกเข็ม พุดพิชญา

รูปกรวย funnelform

รูปกรวย funnelform

กลีบดอกเชื่อมติดกันคล้ายรูปแตรหรือกรวยกว้าง เช่น ดอกผักบุ้ง มอนิ่งกอรี่ ใบละบาท

รูประฆัง campanulate

รูประฆัง campanulate

กลีบดอกเชื่อมติดกันคล้ายรูประฆัง เช่น รำเพย

รูปคนโท urceolate

รูปคนโท urceolate

กลีบดอกเชื่อมติดกันคล้ายรูปคนโท เช่น ทานตะวัน

รูปหลอด tubular

รูปหลอด tubular

กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปหลอด เช่น ราตรี

รูปปากเปิด bilabilate

รูปปากเปิด bilabilate

กลีบดอกเชื่อมติดกันเฉพาะที่โคน ปลายแยกเป็น 2 ส่วนขนาดและลักษณะต่างกัน เช่น อังกาบ

3.วงเกสรตัวผู้ (Stamen)

อยู่ถัดจากกลีบดอกเข้าไป เกสรตัวผู้มีหลายอันเรียงกันเป็นชั้น เป็นส่วนของดอกที่จำเป็นในการสืบพันธุ์ โดยมีอับเรณูอยู่ปลายก้านเป็นถุงมี 2 พู เมื่อดอกเจริญเติบโตเต็มที่ถุงเรณูจะแตกออก ละอองเรณูจะปลิวไปผสมกับเกสรตัวเมีย

4.วงเกสรตัวเมีย (Pistill or carpel)

จะเป็นส่วนที่อยู่ในสุดของดอก โดยมากแล้วแต่ละดอกจะมีเกสรตัวเมียเพียง 1 อัน ตรงส่วนปลายยอดจะเป็นปุ่มมีขนหรือน้ำเหนียวๆ สำหรับจับละอองเรณูที่ปลิวมา

ประเภทของดอกไม้

จำแนกตามส่วนประกอบของดอก

  • ดอกสมบูรณ์ (Complete flower) คือดอกที่มีส่วนประกอบของดอกครบทั้ง 4 ส่วนในดอกเดียวกัน เช่น ชบา พู่ระหง กุหลาบ มะเขือ
  • ดอกไม่สมบูรณ์ (Incomplete flower) คือดอกที่มีส่วนประกอบของดอกไม่ครบทั้ง 4 ส่วน เช่น ดอกหน้าวัว (ขาดกลีบเลี้ยงและกลีบดอก) ดอกบานเย็น (ขาดกลีบดอก)

จำแนกตามลักษณะของเพศ

  • ดอกสมบูรณ์เพศ คือดอกที่มีทั้งเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียในดอกเดียวกัน เช่น พู่ระหง และกุหลาบ
  • ดอกไม่สมบูรณ์เพศ คือในดอกจะมีเพียงเกสรตัวผู้หรือเกสรตัวเมียเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ดอกที่มีแต่เกสรตัวผู้เรียก ดอกตัวผู้ ดอกที่มีแต่เกสรตัวเมียเรียก ดอกตัวเมีย ดอกที่ไม่มีทั้งเกสรตัวผู้และตัวเมียเรียก ดอกเป็นกลางหรือดอกเป็นหมัน และหากในพืชต้นหนึ่งๆ มีดอกสมบูรณ์เพศหรือมีทั้งดอกตัวผู้และดอกตัวเมียในต้นเดียวกัน แม้จะคนละดอกหรือต่างช่อดอก เรียกพืชต้นนั้นว่า พืชกระเทย เช่น ข้าวโพด ดอกตัวผู้และตัวเมียแยกต่างช่อดอก มะพร้าว ดอกตัวผู้และตัวเมียต่างดอกในช่อเดียวกัน ตำลึง ฟักทอง ดอกตัวผู้และตัวเมียแยกดอกกัน ส่วนพืชที่มีดอกเพียงเพศเดียวทั้งต้น เรียกพืชเพศแยก เช่น อินทผาลัม มะเดื่อ ตาล พืชบางชนิดมีทั้งดอกสมบูรณ์เพศและดอกไม่สมบูรณ์เพศอยู่บนต้นเดียวกัน เช่น มะละกอ เงาะ และ ทานตะวัน

จำแนกตามจำนวนดอก

  • ดอกเดี่ยว เป็นดอกที่เกิดขึ้นบนก้านดอก เป็นดอกเดียวโดดๆ ในแต่ละข้อของกิ่งหรือลำต้น เช่น ชบา จำปี การะเวก
  • ดอกช่อ เป็นดอกที่เกิดเป็นกลุ่มอยู่บนก้านดอกใหญ่เดียวกัน และประกอบด้วยก้านดอกย่อยๆ หลายดอก ลักษณะการติดของดอกทำให้เกิดช่อดอกแบบต่างๆ กัน แบ่งเป็น 2 กลุ่มตามลักษณะการบานของดอก คือ

ดอกช่อแบบอินดีเทอร์มิเนต (Indeterminate inflorescence) เป็นดอกช่อที่ดอกย่อยที่อยู่ล่างสุดหรือริมนอกสุดจะบานและแก่ก่อนดอกอื่นที่อยู่ถัดเข้าไปข้างในหรืออยู่เหนือขึ้นไปข้างบน ดอกย่อยอาจมีหรือไม่มีก้านดอกย่อยก็ได้ ถ้ามีก้านดอกย่อยโดยส่วนใหญ่ก้านที่อยู่ล่างสุดจะยาวที่สุด

ช่อกระจุกแน่น head

ช่อกระจุกแน่น head

ช่อดอกที่มีดอกย่อยอัดกันแน่นบนฐานรองดอกรูปจานที่แผ่กว้างออก ตรงกลางนูนเล็กน้อย เช่น ทานตะวัน ดาวเรือง บานไม่รู้โรย

ช่อแบบหางกระรอก catkin

ช่อแบบหางกระรอก catkin

ช่อดอกที่มีลักษณะคล้ายดอกเชิงลด ช่อดอกมีแกนกลางยาว ดอกย่อยไม่มีก้านดอกย่อย ต่างกันตรงที่ปลายช่อห้อยลง เช่น หางกระรอกแดง

ช่อเชิงลดมีกาบ spadix

ช่อเชิงลดมีกาบ spadix

ช่อดอกแบบเชิงลดที่มีดอกแยกเพศติดอยู่บนแกนกลาง ไม่มีก้านดอกย่อย มีริ้วประดับแผ่นใหญ่เป็นกาบหุ้ม เช่น หน้าวัว บอน

ช่อเชิงลด spike

ช่อเชิงลด spike

ช่อดอกที่มีแกนกลางยาว ดอกย่อยทุกดอกไม่มีก้านดอกย่อย เช่น กระถินณรงค์

ช่อกระจะ raceme

ช่อกระจะ raceme

ช่อดอกที่ดอกย่อยมีก้านดอกแยกจากแกนกลาง ก้านดอกย่อยแต่ละดอกจะมีความยาวใกล้เคียงกัน เช่น หางนกยูง กล้วยไม้

ช่อแขนง panicle

ช่อแขนง panicle

ช่อดอกที่แตกแขนงจากแกนกลางก่อนที่จะมีดอกย่อยที่มีก้านดอก

ช่อซี่ร่ม umbel

ช่อซี่ร่ม umbel

ช่อที่มีก้านดอกย่อยทั้งหมดยาวเท่ากัน และออกมาจากจุดเดียวกันทำให้เห็นดอกมีลักษณะคล้ายซี่ร่ม เช่น พลับพลึง

ช่อซี่ร่มเชิงประกอบ compound umbel

ช่อซี่ร่มเชิงประกอบ compound umbel

เป็นช่อแบบซี่ร่มที่แยกออกจากแกนหลักเป็นครั้งที่ 2 แล้วจึงมีดอก

ช่อซี่ร่มแยกแขนง branched umbel

ช่อซี่ร่มแยกแขนง branched umbel

ช่อดอกที่มีช่อย่อยแบบช่อแขนงแต่ละช่อประกอบกันแบบซี่ร่ม

ช่อซี่ร่มคล้ายช่อเชิงลด spicate umbel

ช่อซี่ร่มคล้ายช่อเชิงลด spicate umbel

ช่อดอกที่มีช่อย่อยแบบช่อเชิงลดแต่ละช่อประกอบกันเป็นแบบซี่ร่ม

ช่อซี่ร่มคล้ายช่อกระจะ racemiform umbel

ช่อซี่ร่มคล้ายช่อกระจะ racemiform umbel

ช่อดอกที่มีช่อย่อยแบบช่อกระแจแต่ละช่อประกอบกันเป็นแบบซี่ร่ม

ช่อเชิงหลั่น simple corymb

ช่อเชิงหลั่น simple corymb

ช่อดอกที่ดอกย่อยอยู่ในระนาบเดียวกันก้านดอกยาวไม่เท่ากัน ก้านดอกย่อยของดอกล่างสุดจะยาวที่สุด ก้านดอกย่อยที่ถัดขึ้นไปจะสั้นลงตามลำดับ เช่น ดอกขี้เหล็ก

ช่อเชิงหลั่นเชิงประกอบ compound corymb

ช่อเชิงหลั่นเชิงประกอบ compound corymb

เป็นช่อแบบช่อเชิงหลั่นที่แยกออกจากก้านเป็นครั้งที่ 2 จึงมีดอก

ดอกช่อแบบดีเทอร์มิเนต (Determinate inflorescence)
เป็นดอกช่อที่ดอกย่อยที่อยู่ในสุดหรือบนสุดจะบานและแก่ก่อนดอกที่อยู่วงนอนหรือดอกที่อยู่ถัดลงมาข้างล่าง นอกจากนี้ช่อดอกบางชนิดมีลักษณะผสมผสานระหว่างดีเทอร์มิเนต และ อินดีเทอร์มิเนต ในช่อเดียวกัน เรียกว่า Thysus

ช่อกระจุก simple cyme

ช่อกระจุก simple cyme

เป็นดอกช่อที่มี 3 ดอกย่อย ก้านดอกย่อยแตกออกทางด้านข้างของแกนกลางที่จุดเดียวกัน เช่น มะลิ ต้อยติ่ง

ช่อกระจุกเชิงประกอบ compound cyme

ช่อกระจุกเชิงประกอบ compound cyme

เป็นช่อแบบช่อกระจุกที่มีก้านแยกออกจากแกนหลักเป็นครั้งที่ 2 แล้วจึงมีดอก เช่น เข็ม โคมญี่ปุ่น

ช่อคดกริช scorpioid

ช่อคดกริช scorpioid

มีดอกย่อยทั้งสองข้างแตกออกตรงซอกใบ และดอกที่แตกออกอยู่ในระดับเดียวกัน เช่น หญ้าหนวดแมว

ช่อบิดเกลียว helicoid

ช่อบิดเกลียว helicoid

เป็นดอกที่มีก้านดอกข้างๆ แตกออกไปข้างเดียวตลอด ทำให้ก้านดอกโค้งงอ เช่น ดอกหญ้างวงช้าง

ช่อกระจุกแยกแขนง thysus

ช่อกระจุกแยกแขนง thysus

ช่อดอกที่มีช่อย่อยแบบช่อแขนงแต่ละช่อประกอบกันแบบช่อกระจุก เช่น ดอกองุ่น

จำแนกตามลักษณะสมมาตรของดอก

  • ดอกสมมาตรแบบรัศมี คือดอกที่ส่วนประกอบของดอกเรียงตัวอย่างสม่ำเสมอ กลีบเลี้ยงหรือกลีบดอกขนาดเท่าๆ กัน สามารถแบ่งออกเป็นสองส่วนเท่ากันโดยผ่าได้หลายแนวตามแนวรัศมีของดอก เช่น จำปี บัว ชบา
  • ดอกสมมาตรครึ่งซีก คือดอกที่มีส่วนประกอบของดอกมีขนาดไม่เท่ากัน การจัดระเบียบของดอกไม่เป็นรัศมี ถ้าผ่าเป็นสองซีกให้เหมือนกันจะสามารถผ่าได้เพียงแนวเดียวเท่านั้น เช่น ดอกกล้วยไม้ ชงโค อัญชัน
ดอกหน้าวัว
ดอกหน้าวัวเป็นดอกไม่สมบูรณ์ที่ขาดกลีบเลี้ยงและกลีบดอก ช่อดอกสีขาวเป็นช่อดอกเชิงลดแบบมีกาบสีแดง
ดอกทานตะวัน
ดอกทานตะวันเป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบดอกเชื่อมติดกันแบบคนโท ช่อดอกเป็นแบบช่อกระจุกแน่น (head) ดอกที่อยู่วงนอกจะมีกลีบดอกยาวกางออกกลีบเดียว ทำไห้ช่อดอกดูเหมือนเป็นดอกเดียว
พุดพิชญา
พุดพิชญา กลีบดอกติดกันคล้ายรูปกรวยแคบยาวแบบดอกเข็ม สมมาตรรัศมี ช่อดอกเป็นแบบช่อกระจุกช่อละ 3 ดอก
พุดพิชญา
หางนกยูง ช่อดอกแบบ ช่อกระจะ (raceme) ดอกย่อยมีก้านดอกแยกจากแกนกลาง ก้านดอกย่อยแต่ละดอกจะมีความยาวใกล้เคียงกัน เป็นดอกแบบสมมาตรครึ่งซีก
หางกระรอกแดง
หางกระรอกแดง ช่อดอกแบบ catkin ช่อดอกมีแกนกลางยาว ดอกย่อยไม่มีก้านดอกย่อย ปลายช่อห้อยลง

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง