กุยช่าย (Chinese Chives)

กุยช่าย (Chinese Chives)

กุยช่าย เป็นพืชในตระกูลอัลเลียม เช่นเดียวกับกระเทียมและหัวหอม จึงมีกลิ่นแรงและฉุนจากสารประกอบพวกกำมะถัน กุยช่ายที่เราคุ้นเคยมี 3 ประเภท คือ กุยช่ายเขียว กุยช่ายขาว และดอกกุยช่าย ทั้ง 3 ประเภทแตกต่างกันตรงกระบวนการปลูกและการตัดส่วนมาขาย น้ำมันระเหยในกุยช่ายมีกลิ่นฉุน มีสารอัลลิชิน (Allicin) ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ลดความดันโลหิต ป้องกันมะเร็ง ในกุยช่ายประกอบด้วยเส้นใยอาหาร ทำให้ขับถ่ายสะดวก ท้องไม่ผูก ป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคริดสีดวงทวาร กุยช่ายกินได้ทั้งดอกและใบ ดอกกุยช่ายนิยมผัดกับตับหมู ส่วนใบช่วยปรุงแต่งรสอาหารให้อร่อยมากยิ่งขึ้น ใช้กินสดกับก๋วยเตี๋ยวผัดไทย หมี่กะทิ หมี่กรอบ และใส่เป็นไส้ขนมกุยช่าย


ชื่อสามัญ : Chinese Chives, Garlic Chives, Chinese Leek
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Allium tuberosum Rottl. ex Spreng
วงศ์ : AMARYLLIDACEAE
ชื่ออื่น : ผักไม้กวาด (ภาคกลาง), ผักแป้น (ภาคอีสาน), กูไฉ่ (จีนแต้จิ๋ว)
ถิ่นกำเนิด : ประเทศจีน
ลักษณะทั่วไป : กุยช่ายเป็นไม้ล้มลุก สูงประมาณ 30-45 เซนติเมตร มีเหง้าเล็กและแตกกอ ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปขอบขนาน ใบแบนและยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร โคนเป็นกาบบางซ้อนสลับกัน ดอกกุยช่าย หรือ ดอกไม้กวาด ออกเป็นช่อแบบซี่ร่ม ก้านช่อดอกกลมตัน ยาวประมาณ 40-45 เซนติเมตร โดยปกติจะยาวกว่าใบ ดอกสีขาว มีกลิ่นหอม ออกในระดับเดียวกันที่ปลายก้านช่อดอก ก้านดอกยาวเท่ากัน มีใบประดับหุ้มช่อดอก เมื่อดอกเจริญขึ้นจะแตกออกเป็นริ้วสีขาว กลีบดอก 6 กลีบ สีขาว ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร โคนติดกัน ปลายแยก กลางกลีบดอกด้านนอกมีสันหรือเส้นสีเขียวอ่อนจากโคนกลีบไปหาปลาย ดอกบานกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร เกสรเพศผู้ 6 อัน อยู่ตรงข้ามกับกลีบดอก เกสรเพศเมีย 1 อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ผลกลม กว้างยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร ภายในมี 3 ช่อง มีผนังกั้นตื้นๆ เมื่อแก่แตกตามตะเข็บ มีเมล็ดช่องละ 1-2 เมล็ด เมล็ดสีน้ำตาล แบน ขรุขระ
การขยายพันธุ์ : การขยายพันธุ์กุยช่าย มี 2 วิธี คือ การเพาะเมล็ดและการแยกเหง้าปลูก
การปลูก : กุยช่ายเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่มีความอุดมสมบูรณ์ ระบายน้ำได้ดีไม่ท่วมขัง ควรได้รับแสงแดดเต็มวัน ดูแลรดน้ำสม่ำเสมอ
สรรพคุณ : น้ำมันระเหยในกุยช่ายมีกลิ่นฉุน มีสารอัลลิชิน (Allicin) ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ลดความดันโลหิต ป้องกันมะเร็ง ช่วยเพิ่มและขับน้ำนมในสตรีหลังคลอด แก้โรคนิ่วและหนองในได้ดี ในกุยช่ายประกอบด้วยเส้นใยอาหาร ทำให้ขับถ่ายสะดวก ท้องไม่ผูก ป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคริดสีดวงทวาร เมล็ดรับประทานขับพยาธิเส้นด้าย กุยช่ายมีธาตุเหล็กสูง ซึ่งช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดงหรือเกล็ดเลือดต่ำ รักษาภาวะเม็ดเลือดแดงต่ำ แก้อาการอ่อนเพลีย

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง