ขิง (Ginger)

ขิง (Ginger)

ขิง เป็นเครื่องเทศเก่าแก่ที่ชาวจีนใช้มานานกว่า 2,000 ปี ขิงอ่อนและขิงแก่การนำไปใช้ต่างกัน ขิงแก่นิยมใส่ในอาหารเพื่อดับกลิ่นคาวและเพิ่มความหอม เช่น โขลกรวมกับน้ำพริกแกงแล้วนำไปผัดพริกขิงหมูกับถั่วฝักยาว หรือใส่เป็นน้ำต้มขิงกินกับเต้าฮวยและใส่ในน้ำต้มน้ำตาลหรือซอยบางๆ ใส่ในกุ้งอบวุ้นเส้น ส่วนขิงอ่อนนิยมกินเป็นผัก เช่น ซอยใส่ในไก่ผัดพริก โรยหน้าโจ๊ก ต้มส้มปลา กินแนมกับไส้กรอกอีสาน แลนำมาดองเป็นขิงดองสามรส กินกับเป็ดย่าง ไข่เยี่ยวม้า ชิงแก่มีรสเผ็ดกว่าขิงอ่อน และมีตัวยาสำคัญหลากหลายชนิด เหมาะสำหรับเป็นกระสายยา แก้โรคและอาการต่างๆ ปัจจุบันมีการสกัดสารที่มีประโยชน์จากขิง เพื่อใช้รักษาโรคอย่างกว้างขวาง

ขิง (Ginger) พืชเครื่องเทศ
ชื่อสามัญ : Ginger
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Zingiber officinale Roscoe
วงศ์ : ZINGIBERACEAE
ชื่ออื่น : ขิงแดง ขลิงแกลง (จันทบุรี) ขิงบ้าน ขิงแครง ขิงป่า ขิงเขา ขิงดอกเดียว (ภาคกลาง) ขิงเผือก ( เชียงใหม่) สะเอ (กะเหรี่ยง – แม่ฮ่องสอน) ขิงแกลง,ขิงแดง
ถิ่นกำเนิด : ประเทศในแถบเอเชียตอนใต้
ลักษณะทั่วไป : ขิงเป็นไม้ล้มลุกสูง 30-100 เซนติเมตร มีลำต้นเป็นเหง้าใต้ดิน เปลือกนอกสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในสีนวลมีกลิ่นเฉพาะ แทงหน่อหรือลำต้นเทียมเช่นเดียวกับไพล ใบเป็นใบเดี่ยวรูปขอบขนานแกมใบหอก กว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร ใบออกเรียงสลับกันเป็นสองแถว หลังใบห่อจีบเป็นรูปรางน้ำ ปลายใบสอบเรียวแหลม โคนใบสอบแคบ และเป็นกาบหุ้มลำต้นเทียม ดอกออกเป็นช่อแทงออกจากเหง้า ยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร ก้านช่อดอกยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร ลักษณะดอกเป็นตุ่มมีเกล็ดเล็กๆ กลีบดอกสีเหลืองแกมเขียว ใบประดับสีเขียวอ่อน ผลมีลักษณะกลม แข็ง เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร มี 3 พู
การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์โดยการชำเหง้าหรือหัวพันธุ์จากขิงแก่อายุ 10-12 เดือน เอามาผึ่งลมให้แห้ง แล้วนำมาหันเป็นท่อนๆ ให้มีตาติดอยู่ 2-3 ตา
การปลูก : ขิงชอบดินที่มีความร่วนซุย มีการระบายน้ำดี ควรเป็นดินร่วนปนทราย หรือดินเหนียวปนทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง ขิงเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก แต่ไม่ชอบที่มีน้ำขัง สถานที่ปลูกขิงต้องมีที่กำบังแดดหรือที่มีแดดรำไรไม่ให้แดดส่องถูกกับขิงโดยตรง
สรรพคุณ : ใช้เหง้าขิงแก่ทั้งสดและแห้งเป็นยาขับลม แก้อาเจียน แก้ไอขับเสมหะ และขับเหงื่อโดยใช้เหง้าสดขนาดนิ้วหัวแม่มือต้มกับน้ำหรือใช้ผงขิงแห้งชงน้ำดื่ม ป้องกันการเมารถเมาเรือได้ ในเหง้ามีน้ำมันหอมระเหยประกอบด้วย menthol, bornelo, fenchone, 6-shogoal และ6-gingerol menthol, มีฤทธิ์ขับลม borneol, fenchone และ 6-gingerol มีฤทธิ์ขับน้ำดี ช่วยย่อยไขมัน นอกจากนี้พบว่าสารที่มีรสเผ็ดได้แก่ 6-shogoal และ6-gingerol ลดการบีบตัวของลำไส้ จึงช่วยบรรเทาอาการปวดท้องเกร็ง

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง