พริกไทย (Pepper)

พริกไทย (Pepper)

พริกไทยเป็นเครื่องเทศสำคัญของโลกที่ได้ชื่อว่าเป็น “ราชาแห่งเครื่องเทศ” นำมาใช้ได้ทั้งพริกไทยสดและพริกไทยแห้ง ถ้าทำแห้งทั้งเปลือกจะได้พริกไทยดำ ซึ่งเมื่อป่นแล้วจะมีผงของเปลือกเป็นสีดำปนอยู่ ส่วนพริกไทยขาวได้ลอกส่วนของเปลือกออกเมื่อป่นแล้วจะมีผงสีขาวกว่า พริกไทยดำมีสารอาหารและสรรพคุณทางยาสูงกว่าพริกไทยขาว การนำไปใช้ปรุงอาหารมักใช้พริกไทยสดในอาหารที่ใช้เนื้อสัตว์กลิ่นคาว ใส่คู่กับกระชาย เช่น แกงป่า ผัดเผ็ด และใส่เป็นเครื่องปรุงน้ำพริก เช่น น้ำพริกพริกไทยอ่อน พริกไทยป่นใช้โรยหน้าแต่งรสและกลิ่นกับอาหารหลายชนิด เช่น อาหารพวกแกงจืด ข้าวผัด ราดหน้า ก๋วยเตี๋ยว พริกไทยมีฤทธิ์ร้อน รสเผ็ด กลิ่นหอม มีสรรพคุณยับยั้งแบคทีเรีย ช่วยต้านมะเร็ง บำรุงกระเพาะ กระตุ้นการทำงานของลำไส้ และน้ำย่อย แก้อาหารเป็นพิษ แก้ปวดท้องจากความเย็น แก้อาเจียน ช่วยอุ่นอวัยวะภายใน แก้ท้องเสีย ท้องอืด ช่วยขับลม ช่วยย่อย


ชื่อสามัญ : Pepper
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Piper nigrum L.
วงศ์ : PIPERACEAE
ชื่ออื่น : พริกขี้นก, พริกไทยดำ, พริกไทยขาว, พริกไทยล่อน, พริกน้อย (ภาคเหนือ), พริก (ใต้)
ถิ่นกำเนิด : ประเทศอินเดีย และประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ลักษณะทั่วไป : พริกไทยเป็นไม้เถาอายุหลายปี มีทั้งต้นตัวผู้และต้นตัวเมีย ลำต้นมีข้อและป้องชัดเจน มีรากฝอยตามข้อเถาเพื่อใช้ยึดเกาะ เถายาวประมาณ 2-4 เมตรใบเป็นใบเดี่ยวออกสลับ รูปไข่หรือรี ปลายใบแหลม โคนใบมนกลมหรือแหลมเล็กน้อย ขอบใบเรียบ สีเขียวเข้มค่อนข้างหนา ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-7 เซนติเมตร ยาวประมาณ 7-18 เซนติเมตร เส้นใบที่บริเวณโคนใบมี 3-7 เส้น ดอกออกเป็นช่อและออกตรงข้ามกับใบที่ข้อเถา ไม่มีก้านดอก ดอกติดอยู่ตามแกนช่อดอก แกนช่อยาวประมาณ 7-15 เซนติเมตร แต่ละช่อมี 50-150 ดอก ดอกย่อยสมบูรณ์เพศ มีเกสรตัวผู้ 2 อัน ดอกลักษณะกลม ไม่มีกลีบรองดอกและกลีบดอก เริ่มบานจากส่วนโคนไปปลายช่อ ช่อดอกขณะอ่อนมีสีเหลืองอมเขียว เมื่อแก่จะมีสีเขียวและปลายช่อดอกจะห้อยลงดิน ดอกจะบานหมดทั้งช่อในเวลา 5-7 วัน ผล เป็นผลสด รูปกลม ขนาด 3-5 มิลลิเมตร ออกเป็นพวง ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกสีแดง เมื่อแห้งสีดำและมีผิวย่น ภายในผลหนึ่งๆจะมี 1 เมล็ด เมล็ดสีขาวนวล แข็ง ค่อนข้างกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-4 มิลลิเมตร เมล็ดมีกลิ่นฉุนและมีรสเผ็ด
การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดหรือปักชำกิ่ง
การปลูก : พริกไทยควรปลูกในดินที่มีความสมบูรณ์ มีอินทรียวัตถุโดยการใส่ปุ๋ยคอก ควรมีค้างสูงประมาณ 180-200 เมตร เพื่อให้ต้นพริกไทยเลื้อยเกาะ หลังปลูกควรรดน้ำทุกวันหรือวันเว้นวัน เมื่อพริกไทยตั้งตัวได้ ลดเหลือ 2-3 วัน/ครั้ง พริกไทยที่ให้ผลแล้วควรให้ 3-4 วัน/ครั้ง ตามสภาพดินฟ้าอากาศ
สรรพคุณ : พริกไทยมีฤทธิ์ร้อน รสเผ็ด กลิ่นหอม มีสรรพคุณยับยั้งแบคทีเรีย ช่วยต้านมะเร็ง บำรุงกระเพาะ กระตุ้นการทำงานของลำไส้ และน้ำย่อย แก้อาหารเป็นพิษ แก้ปวดท้องจากความเย็น แก้อาเจียน ช่วยอุ่นอวัยวะภายใน แก้ท้องเสีย ท้องอืด ช่วยขับลม ช่วยย่อย

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง