เทววาจิกอุบาสก

เทววาจิกอุบาสก

เทววาจิกอุบาสก พรรณไม้ในพุทธประวัติ ต้นไม้ในพุทธประวัติ

ในสัปดาห์ที่ ๗ สัปดาห์สุดท้ายแห่งการเสวยวิมุติสุข หลังจากตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พระพุทธองค์ทรงเสด็จไปประทับ ณ ใต้ต้นราชายตนะ (ต้นเกด หรือต้นไม้ที่อยู่แห่งพระราชา) ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นเวลาอีก ๗ วัน แล้วจึงทรงออกจากฌานสมาบัติหรือสมาธิ

ณ ต้นราชายตนะ นี้เอง ได้มีพ่อค้าพานิช ๒ พี่น้องเป็นชาวพม่า ชื่อ “ตปุสสะ” กับ “ภัลลิกะ” นำเกวียน ๕๐๐ เล่ม เดินทางจากอุกกลชนบท หรืออุกกลาชนบท (น่าจะเป็นภาคเหนือของชมพูทวีป แถวเมืองตักสิลา)
ผ่านมาทางตำบลพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้าขณะทรงประทับอยู่ใต้ต้นราชายตนะ มีพระรัศมีอันผ่องใสงดงามยิ่งนัก ก็บังเกิดความเลื่อมใส จึงนำข้าวสัตตุผง สัตตุก้อน ซึ่งเป็นเสบียงเดินทางของตนไปน้อมถวาย

หลังจากพระพุทธองค์เสวยข้าวสัตตุผง สัตตุก้อนเสร็จแล้ว ก็ทรงแสดงธรรมและประทานอนุโมทนาแก่พ่อค้าพานิชทั้งสอง เมื่อจบพระธรรมเทศนา พ่อค้าพานิชทั้งสองก็เปล่งวาจาถึงพระพุทธเจ้าและพระธรรมเป็นสรณะตลอดชีวิต ไม่เปล่งวาจาถึงพระสงฆ์เพราะขณะนั้นยังไม่มีพระสงฆ์ ประกาศตนเป็นอุบาสกผู้ถึงรัตนะสองเป็นสรณะคู่แรกในพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่า เทฺววาจิกอุบาสก (อ่านว่า ทะ-เว-วา-จิ-กะ-อุ-บา-สก)

ก่อนที่จะเดินทางต่อไป พ่อค้าพานิชทั้งสองได้กราบทูลขอสิ่งของที่ระลึกจากพระพุทธองค์เพื่อให้นำกลับไปบูชาสักการะ พระพุทธองค์ทรงเอาพระหัตถ์ลูบพระเศียร เส้นพระเกศา ๘ เส้นหลุดติดพระหัตถ์มา จึงทรงประทานให้แก่พ่อค้าพานิชทั้งสอง ชาวพม่าสองพี่น้องนี้ได้นำพระเกศาธาตุ ๘ เส้นนั้นกลับไปยังเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า ได้มีพิธีสมโภชพระเกศาธาตุ ซึ่งบรรจุไว้ภายในผอบทองคำนี้หลายวันหลายคืน และได้จัดสร้าง “พระมหาเจดีย์ชเวดากอง” เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุตราบเท่าทุกวันนี้ (เหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นที่มาของการสร้างพระพุทธรูปปางประทานเกศาธาตุ)


พรรณไม้ในพุทธประวัติ

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิงและรูปภาพจากเว็บไซต์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง