โป๊ยกั๊ก (Chinese star anise)

โป๊ยกั๊ก (Chinese star anise)

โป๊ยกั๊ก เป็นเครื่องเทศเก่าแก่ของจีนที่มีใช้มานานกว่า 1,000 ปี มีรูปร่างเหมือนดอกจันทร์แปดแฉก คำว่า “โป๊ย” ในภาษาจีนแปลว่า 8 และ “กั๊ก” แปลว่า เหลี่ยมหรือแฉก คนไทยเรียกโป๊ยกั๊กว่า “จันทน์แปดกลีบ” โป๊ยกั๊กเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีถิ่นกำเนิดและเขตการกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศจีนและเวียดนาม ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์คือส่วนของผลที่มีเมล็ดติดอยู่นำไปทำให้แห้ง มีกลิ่นหอมและรสร้อน โป๊ยกั๊กเป็นเครื่องเทศที่สำคัญในอาหารหลายชนิด โดยเฉพาะอาหารประเภทตุ๋น เช่น พะโล้ ก๋วยจั๊บ สตู มัสมั่น ก๋วยเตี๋ยวน้ำแดง เพราะโป๊ยกั๊กจะช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ โป๊ยกั๊กมีสรรพคุณใช้รักษาอาการท้องอืดเฟ้อ ไส้เลื่อน ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดลม บรรเทาอาการปวดหลัง และเหน็บชา

โป๊ยกั๊ก (Chinese star anise) พืชเครื่องเทศ
ชื่อสามัญ : Chinese star anise, Star anise
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Illicium verum Hook.f.
วงศ์ : SCHISANDRACEAE
ชื่ออื่น : จันทร์แปดกลีบ, จันทน์แปดกลีบ, แปดแฉก, โป๊ยกั๊ก (จีน)
ถิ่นกำเนิด : พืชที่มีถิ่นกำเนิดและเขตการกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศจีนและเวียดนาม
ลักษณะทั่วไป : ต้นโป๊ยกั๊กหรือจันทน์แปดกลีบ เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงประมาณ 10-15 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 30 เซนติเมตร ลำต้นตั้งตรง เปลือกไม้สีขาวเทา หยาบเล็กน้อย ต้นแก่มีสีเทา มีรอยแตกไม่เป็นระเบียบ ใบเป็นเดี่ยวหรือออกเป็นกลุ่ม 3-6 ใบ ใบเป็นรูปไข่คว่ำ ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร กว้างประมาณประมาณ 2-5 เซนติเมตร โคนใบสอบ ปลายใบเว้าแคบเป็นแถบยาวแหลม หน้าใบสีเขียวเข้ม ผิวลื่นเป็นมันไม่มีขน หลังใบสีเขียวอ่อน มีขนนุ่มๆ อยู่เบาบาง ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกที่ง่ามใบ ดอกมีสีเหลือง อาจมีแต้มสีชมพูถึงสีแดง ลักษณะของดอกเป็นรูปทรงกลมแกมรูปถ้วย มีกลีบดอก 8-13 กลีบ เรียงซ้อนกัน 2-3 วง มีลักษณะเป็นรูปรีกว้าง ขอบกลีบมีขนและเป็นกระพุ้ง ก้านดอกยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร เป็นดอกผสม มีเกสรเพศผู้ 15-19 อัน เกสรตัวเมีย 8 อัน ผลมีลักษณะเป็นกลีบรูปดาว มีประมาณ 5-12 กลีบ แต่ที่พบโดยส่วนใหญ่มักมี 8 กลีบ เมื่อสดมีสีเขียว ผลแห้งมีกลีบหนาแข็ง มีสีน้ำตาลเข้ม เส้นผ่าศูนย์กลางผลประมาณ 3.5 เซนติเมตร ในกลีบแต่ละกลีบมีเมล็ด 1 เมล็ด มีลักษณะเป็นรูปรีแบน ผิวมีสีน้ำตาลเรียบและเป็นเงา ผลมีกลิ่นหอมและมีรสร้อน
การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
การปลูก : จันทน์แปดกลีบต้องการดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ ร่วนซุย และมีปริมาณน้ำที่เพียงพอ ต้องการแสงแดดที่เพียงพอ โดยเฉพาะช่วงที่จะผลิตดอกออกผล ต้องการแสงแดดค่อนข้างมากเพื่อทำให้ผลิตดอกออกเป็นผลได้ดี
ประโยชน์ : ใช้ปรุงอาหารประเภทตุ๋นเพื่อช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ เช่น พะโล้ ก๋วยจั๊บ สตู มัสมั่น ก๋วยเตี๋ยวน้ำแดง มีสรรพคุณใช้รักษาอาการท้องอืดเฟ้อ ไส้เลื่อน ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดลม บรรเทาอาการปวดหลัง และเหน็บชา ขับปัสสาวะ และเป็นยาระบาย โป๊ยกั๊กช่วยบำรุงรักษาโรคตับและม้าม ดังนั้นผู้ดื่มสุราจึงควรกินโป๊ยกั๊ก สารฟินิลโปควินอยด์ (phenylpoquinoids) ในโป๊ยกั๊ก มีคุณสมบัติในการยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ดีกว่าเบตาแคโรทีน โป๊ยกั๊กยังเข้ากันได้ดีกับเกลือ เหล้าองุ่น และอบเชย เพราะช่วยเสริมสรรพคุณทางยาให้แก่กันและกัน
ข้อควรระวัง : ผู้ที่มีอาการร้อนใน เป็นโรคผิวหนัง โรคตา ควรหลีกเลี่ยงการใช้โป๊ยกั๊ก

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง