ดอกหงอนไก่ พรรณไม้ในพุทธประวัติ

ดอกหงอนไก่ พรรณไม้ในพุทธประวัติ

ดอกหงอนไก่ ตามพุทธประวัติกล่าวว่าเมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ทรงกำหนดในพระทัยว่าจะแสดงธรรมแก่ปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ระหว่างทางเมื่อเสด็จถึงแม่น้ำคยา พระพุทธเจ้าได้ทรงพบอุปกาชีวก เดินสวนทางมา ฝ่ายอุปกะได้เห็นพระรัศมีของพระผู้มีพระภาคงดงามผ่องใส อย่างที่ไม่เคยเห็นมาแต่ก่อน พระรัศมีนั้นเรียกว่า “ฉัพพรรณรังสี” คือ พระรัศมี ๖ ประการ ได้แก่

๑. นีละ สีเขียวเหมือนดอกอัญชัน
๒. ปีตะ สีเหลืองเหมือนหรดาลทอง
๓. โลหิตะ สีแดงเหมือนแสงตะวันอ่อน
๔. โอทาตะ สีขาวเหมือนแผ่นเงิน
๕. มัญเชฐะ สีแสดเหมือนดอกหงอนไก่
๖. ประภัสสระ สีเลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก

ดอกหงอนไก่ พรรณไม้ในพุทธประวัติ
ชื่อพื้นเมือง: หงอนไก่ดง (นครสวรรค์), ดอกด้าย ด้ายสร้อย สร้อยไก่ หงอนไก่ (ภาคเหนือ), หงอนไก่ดอกกลม หงอนไก่ฟ้า หงอนไก่ฝรั่ง หงอนไก่เทศ หงอนไก่ไทย (ภาคกลาง), พอคอที (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ชองพุ ซองพุ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), กระลารอน (เขมร-ปราจีนบุรี), แชเสี่ยง โกยกวงฮวย (จีนแต้จิ๋ว), จีกวนฮวา (จีนกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์: Celosia cristata L.
ชื่อสามัญ: Wild Cockcomb, Cockcomb, Common cockscomb
ชื่อวงศ์: AMARANTHACEAE
ถิ่นกำเนิด: อเมริกาเขตร้อน ภายหลังได้กระจายพันธุ์ปลูกไปทั่วโลก
สภาพนิเวศน์: เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยและระบายน้ำได้ดี เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ชอบแสงแดดจัด และเจริญเติบโตได้ง่ายและงอกงามเร็ว ควรรดน้ำให้น้อยลงในช่วงที่ต้นออกดอก โดยรดที่โคนต้นเพื่อไม่ให้น้ำขังช่อดอก
ลักษณะทั่วไป: หงอนไก่ เป็นไม้ดอกอายุสั้น มีพุ่มขนาดเล็ก ความสูงของต้นประมาณ 20-90 เซนติเมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขาไม่มากนัก ไม่มีแก่น เป็นพรรณไม้ที่กลายพันธุ์ได้ง่าย จึงทำให้บางต้นไม่เป็นสีเขียวเสมอไป โดยอาจจะเป็นสีเขียวอ่อน สีขาว หรือสีแดง แล้วแต่พันธุ์ของต้นนั้นๆ ใบเป็นใบรูปหอกหรือรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบห่อขึ้นเล็กน้อย ใบมีสีเขียวหรือสีม่วงแดง เส้นกลางใบสีชมพู ผิวใบย่นเล็กน้อย ดอกออกเป็นช่อกระจุกที่ปลายยอด ขนาดช่อดอกประมาณ 8-15 เซนติเมตร กลีบประดับอัดกันแน่น ม้วนคดงอคล้ายหงอนไก่ มีสีเหลือง ชมพู แดง และสองสีในดอกเดียวกันแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ ดอกจริงขนาดเล็กสีขาวเงิน แทรกอยู่ในกลีบประดับ
การขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
ประโยชน์: นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ รากใช้เป็นยาแก้ไข้ บำรุงธาตุ ขับเสมหะ ใช้ลำต้นสดต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้โรคท้องร่วง อาเจียนเป็นเลือด หรือใช้เป็นยาพอกแก้ตะขาบกัด ใช้ก้านและใบสดหรือแห้งต้มเอาน้ำกินเป็นยาระบาย ดอกสดหรือแห้งต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้บิด เมล็ดแห้งใช้ทำเป็นยาเม็ดกิน เป็นยาแก้ความดันโลหิตสูง หรือผิวหนังเป็นผดผื่นคันร้อนแดง


พรรณไม้ในพุทธประวัติ

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิงและรูปภาพจากเว็บไซต์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง