ต้นหว้า พรรณไม้ในพุทธประวัติ

ต้นหว้า พรรณไม้ในพุทธประวัติ

ต้นหว้า หรือที่ชาวฮินดูเรียกว่า จามาน หรือ จามูน ในพระพุทธประวัติกล่าวถึงต้นหว้าไว้สองตอนด้วยกันคือ ตอนแรก เมื่อพระเจ้าสุทโทธนะพระราชบิดา เสด็จไปทรงประกอบพิธีแรกนาขวัญได้นำพระสิทธัตถะกุมารไปดูด้วยและให้ประทับอยู่ใต้ต้นหว้าใหญ่ บรรดาพระพี่เลี้ยงนางนมต่างก็ไปดูพิธีแรกนาขวัญกันหมด พระกุมารจึงลุกนั่งสมาธิกรรมฐาน ก็เป็นเหตุที่น่าอัศจรรย์ว่าแม้ตะวันจะบ่ายคล้อยไปแล้ว ร่มเงาของไม้หว้านั้นก็ยังไม่ขยับเปลี่ยนทิศทาง คงปิดบังให้ความร่มเย็นแก่พระองค์ โดยปรากฏเป็นปริมณฑลตรงอยู่ประดุจเงาของตะวันตอนเที่ยงตรง

และอีกตอนหนึ่ง กล่าวว่าพระพุทธเจ้าทรงเสด็จไปอาศัยกับชฎิลอรุเวลกัสสป พระฤษีได้ทูลนิมนต์ภัตตภิจ พระองค์ทรงตรัสให้ไปก่อน แล้วทรงเสด็จไปเก็บผลหว้าจากชมพูทวีปวันหนึ่ง อีกวันหนึ่งก็ทรงไปเก็บผลมะม่วง ผลมะขามป้อม ผลส้ม แล้วเสด็จไปสู่ภพดาวดึงส์เก็บดอกปาริฉัตตกะ แต่ก็ทรงกลับมาถึงโรงบูชาเพลิงก่อนอุรุเวลกัสสป

ต้นหว้า พรรณไม้ในพุทธประวัติ
ชื่อพื้นเมือง: หว้าขี้แพะ (เชียงราย), ไม้ห้า (ภาคเหนือ)
ชื่อบาลี: ชมฺพู (ชัม-พู), ชมฺพวํ (ชัม-พะ-วัง)
ชื่อวิทยาศาสตร์: Syzygium cumini (L.) Skeels.
ชื่อสามัญ: Jambolan Plum, Java Plum, Black Plum
ชื่อวงศ์: MYTACEAE
ถิ่นกำเนิด: ประเทศในแถบเอเชียเขตร้อนจากอินเดียถึงมาเลเซีย
สภาพนิเวศน์: ต้นหว้า เป็นพันธุ์ไม้ดั้งเดิมของแถบเอเชีย สามารถขึ้นได้ตั้งแต่ป่าดิบใกล้ทะเลขึ้นไปถึงเขาสูงไม่น้อยกว่า 800 เมตร ขึ้นได้ดีในที่ค่อนข้างชื้น ดินอุดมสมบูรณ์ด้วยปุ๋ยธรรมชาติ
ลักษณะทั่วไป: ต้นหว้า เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ลำต้นค่อนข้างเปลาตรง เปลือกค่อนข้างเรียบสีเทาอ่อน แตกกิ่งก้านมาก ปลายกิ่งห้อยย้อยลง ใบดกหนาแน่นทึบ ทำให้เกิดเป็นพุ่มทรงรูปไข่ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ๆ ตรงข้ามกัน ใบอ่อนมีสีแดงเรื่อและบาง ใบแก่ค่อนข้างหนา มีต่อมน้ำมันอยู่ทั่วไป รูปใบมนหรือแกมรูปหอก ใบเกลี้ยงเป็นมัน เส้นแขนงใบละเอียดอ่อนและเรียงขนานกัน ดอกสีขาว ออกเป็นช่อสั้นๆ กระจุกตามกิ่ง เหนือรอยแผลใบ กลีบเลี้ยงรูปถ้วย กลีบดอกสีขาวร่วงง่าย มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ผลกลมรี ผลยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร และกลมประมาณ 1 เซนติเมตร มีเนื้อเยื่อหุ้ม ผลอ่อนสีเขียว เมื่อผลแก่มีสีออกชมพูแดง พอแก่จัดจะมีสีดำ รับประทานเป็นผลไม้ได้ มีรสอมเปรี้ยวอมหวาน มี 1 เมล็ด
การขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเมล็ดเพาะ การตอน และทาบกิ่ง
ประโยชน์: เปลือกต้นต้มน้ำดื่มรักษาบิด ใช้อมแก้ปากเปื่อย ผลดิบแก้ท้องเสีย เมล็ดลดน้ำตาลในเลือด แก้ท้องเสีย ผลสุกเป็นผลไม้มีรสอมเปรี้ยวอมหวาน ใช้เตรียมน้ำปานะ เนื้อไม้ใช้ทำสิ่งก่อสร้างที่อยู่ในที่ร่ม


พรรณไม้ในพุทธประวัติ

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิงและรูปภาพจากเว็บไซต์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง