ต้นไผ่ พรรณไม้ในพุทธประวัติ

ต้นไผ่ พรรณไม้ในพุทธประวัติ

ตามพุทธประวัติกล่าวว่า ในพรรษาที่ ๒ หลังจากที่พระองค์สำเร็จสัมมาสัมโพธิญาณ ได้เสด็จไปประทับ ณ ลัฏฐิวันสถาน (ป่าตาล) เพื่อโปรดพระเจ้าพิมพิสารราชา แห่งแคว้นมคธรวมทั้งบริวาร พระเจ้าพิมพิสารได้ทูลเชิญเสด็จให้เข้าประทับในเมืองพร้อมกับถวายพระกระยาหาร เสร็จแล้วได้ถวาย พระราชอุทยานเวฬุวัน (ป่าไผ่) ให้เป็นสังฆาราม แด่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวก ด้วยเป็นสถานที่กว้างใหญ่ มีเสนาสนะเรียบร้อย ตั้งอยู่ไม่ใกล้ไกลจากชุมนุมชน เงียบสงัด ผู้มีกิจจะพึงไปถึงได้ไม่ลำบาก ร่มเย็นดีกว่าป่าตาล สมเป็นพุทธาธิวาส พระราชอุทยานเวฬุวันเป็นพระอารามแห่งแรกในพระพุทธศาสนา เรียกว่า เวฬุวนาราม

ต่อมาพระอรหันต์ จำนวน 1,250 รูป ได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระอารามนี้ เมื่อวันเพ็ญเดือนสาม พระองค์ได้ถือเอาวันนี้เป็นวันประกาศหลักสามประการของพระพุทธศาสนาเรียกว่า โอวาทปาฏิโมก ชาวพุทธจึงได้ถือว่าวันนี้เป็นวันสำคัญเรียกว่า วันมาฆบูชา สืบเนื่องกันมาตราบเท่าทุกวันนี้

ต้นไผ่ พรรณไม้ในพุทธประวัติ
ชื่อพื้นเมือง: ไผ่หนาม (ภาคกลาง), ซางหนาม ชาน (ภาคเหนือ), ชารอง (นครพนม), ทะงาน ชอง (ตราด), ไผ่รวก (กาญจนบุรี), วาคะยู (กะเหรี่ยง), ระไซ (เขมร สุรินทร์)
ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa bambos (L.) Voss
ชื่อสามัญ: Giant thorny bamboo, Indian thorny bamboo
ชื่อวงศ์: POACEAE
ถิ่นกำเนิด: ประเทศในเขตร้อนของเอเชีย พบขึ้นอยู่ในป่าของอินเดีย บังคลาเทศ ศรีลังกา พม่า เวียดนาม ลาว เขมร มาเลเซียและไทย
สภาพนิเวศน์: พบตามป่าที่ระดับต่ำกว่า 300 เมตร ต้องการความชื้นสูง ดินร่วนปนทรายที่ระบายน้ำได้ดี
ลักษณะทั่วไป: ไผ่ป่า เป็นไผ่ขนาดใหญ่ มีกอแน่น มีหนาม และมีแขนงรกแน่น โดยเฉพาะตรงบริเวณโคน สูงประมาณ 10-24 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 15-18 เซนติเมตร ปล้องยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร เนื้อหนาประมาณ 1-5 เซนติเมตร ลำอ่อนมีสีเขียว ลำแก่จะมีสีเขียวเหลือง ข้อมีลักษณะบวมเล็กน้อย รูกระบอกเล็ก กาบหุ้มลำลักษณะแข็งเหมือนหนัง ร่วงหลุดได้ง่าย ยาวประมาร 30-40 เซนติเมตร กว้างประมาณ 20-30 เซนติเมตร ตอนปลายกลม ขอบเรียบและมีขนสีทอง ลำใหญ่กว้าง กระจับกาบหุ้มลำแคบ ใบยอดกาบเป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายใบเรียวแหลม โคนใบป้านหรือเกือบกลม ท้องใบมีขน เส้นกลางใบข้างบนแบน ก้านใบสั้นประมาณ 0.5 เซนติเมตร ครีบใบเล็ก ขอบใบมีหนามเล็กๆ กาบใบแคบไม่มีขนนอกจากตามขอบอาจจะมีขนอ่อน ออกดอกเป็นกลุ่ม ออกดอกพร้อมๆ กันครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง
การขยายพันธุ์: เพาะเมล็ด แยกเหง้า ปักชำต้นที่มีข้อติดอยู่ด้วย
ประโยชน์: ใบปรุงเป็นยาขับฟอกระดู ใบต้มกับน้ำขับพยาธิ ตาใบผสมกับพริกไทยดำและเกลือเล็กน้อยใช้ขับพยาธิ รากใช้รักษาเกลื้อน ต้มกินเป็นยาขับปัสสาวะและแก้หนองใน หน่อไม้ใช้เป็นอาหาร ผลหุงรับประทานเหมือนข้าว ไม้ไผ่ใช้จักสาน สร้างบ้าน ทำหมวก ทำตอกเย็บของ และของใช้ต่างๆ


พรรณไม้ในพุทธประวัติ

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิงและรูปภาพจากเว็บไซต์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง