หว้า

หว้า

ต้นหว้าเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดเพชรบุรี มีถิ่นกำเนิดในประเทศแถบเอเชียเขต เช่น อินเดีย ศรีลังกา เนปาล บังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ผลหว้าสุกมีรสอมเปรี้ยวอมหวาน ฝาดเล็กน้อย รับประทานเป็นผลไม้ ต้นหว้ามีสรรพคุณทางสมุนไพรแก้ท้องร่วงและบิด รักษาปากคอเปื่อย ช่วยลดน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้ยังถือว่าต้นหว้าเป็นไม้มงคลในเรื่องของความสำเร็จและชัยชนะอีกด้วย

ชื่อสามัญ : Jambolan Plum, Java Plum, Black Poum, Black Plum

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Syzygium cumini (Linn.) Skeets

วงศ์ : MYRTACEAE

ชื่ออื่น : หว้าขี้แพะ (เชียงราย), ไม้ห้า (ภาคเหนือ)

การแพร่กระจาย : ต้นหว้าเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศแถบเอเชียเขตร้อนตั้งแต่ อินเดีย ศรีลังกา เนปาล บังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย และมีการแพร่กระจายไปยังเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณป่าดิบชื้นและป่าผลัดใบทั่วไป

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

ต้นหว้าเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 20 เมตร ไม่ผลัดใบ บางครั้งจะผลัดใบบ้างถ้าอยู่ในที่แห้งแล้ง ลำต้นค่อนข้างเปลาตรง ทรงพุ่มกลมหรือรูปไข่ เปลือกต้นสีเทาอ่อนหรือสีออกน้ำตาล แตกเป็นร่องลึกตามยาว แตกกิ่งก้านมาก กิ่งอ่อนรูปสี่เหลี่ยม ปลายกิ่งห้อยย้อยลง ใบดกหนาแน่นทึบ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ๆ เรียงตรงข้ามกัน ใบรูปขอบขนาน ปลายใบมนป้าน โคนใบสอบเรียว ขอบใบเรียบ เป็นคลื่นเล็กน้อย ใบอ่อนสีน้ำตาลอมแดงและบาง ใบแก่ค่อนข้างหนา มีต่อมน้ำมันอยู่ทั่วไป ผิวใบเรียบเกลี้ยงเป็นมัน ขนาดใบกว้างประมาณ 3-8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 7-16 เซนติเมตร ก้านใบยาวประมาณ 0.5-1.6 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อยาวประมาณ 4.5-10 เซนติเมตร มีดอกย่อย 30-40 ดอก ดอกสีขาวหรือครีม เส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ดอกย่อยไม่มีก้านดอก ชั้นกลีบเลี้ยง 2.5-6 มิลลิเมตร เชื่อมติดกับฐานรองดอกรูปกรวย ปลาย 4 แฉก สีเขียวอ่อน กลีบดอก 4 กลีบ ขนาด 2 มิลลิเมตร เชื่อมเป็นถุงปิดดอกตูม และหลุดร่วงเมื่อดอกบาน บนกลีบมีต่อมเป็นจุดๆ ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ เกสรตัวผู้จำนวนมาก สีขาว ปลายสีเหลืองอ่อน เกสรตัวผู้วงนอกขนาด 1.5-2.5 มิลลิเมตร ก้านเกสรตัวเมียยาวไม่เกิน 1.5 มิลลิเมตร ผลกลมรี เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร มีเนื้อเยื่อหุ้ม ปลายหรือก้นผลบุ๋ม ผิวเรียบมัน รวมกันเป็นพวง ผลอ่อนสีเขียว แล้วเปลี่ยนเป็นสีชมพูอมแดง เมื่อแก่จัดมีสีแดงเข้มถึงม่วงดำ ผลสุกมีรสอมเปรี้ยวอมหวาน ฝาดเล็กน้อย ฉ่ำน้ำ รับประทานเป็นผลไม้ได้ ภายในมี 1 เมล็ด ทรงกลมแป้น สีน้ำตาลอ่อน

ฤดูออกดอก : หว้าออกดอกราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม และติดผลราวเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม

การขยายพันธุ์ : ต้นหว้าสามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีการเพราะเมล็ด โดยนำเมล็ดแช่น้ำไว้ 1 คืน ก่อนนำไปเพาะ ใช้เวลาประมาณ 15 วัน เมล็ดจึงจะงอก และใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน ต้นกล้าจะมีความสูงประมาณ 30 เซนติเมตร จึงสามารถย้ายปลูกได้

การปลูก : ต้นหว้าเป็นพืชที่ต้องการแสงปานกลางถึงมาก ขึ้นได้ดีในดินเกือบทุกชนิด โดยเฉพาะดินร่วนที่มีความอุดมสมบูรณ์ ควรรดน้ำ 5-7 ครั้งต่อวัน ต้นหว้าไม่ต้องการปุ๋ยมาก เนื่องจากต้นหว้าสามารถเจริญเติบโตได้เอง ทนต่อสภาพแวดล้อม แต่ถ้าต้องการเร่งควรใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก

การใช้ประโยชน์ :

ผลหว้าสุกมีรสอมเปรี้ยวอมหวาน ฝาดเล็กน้อย ฉ่ำน้ำ รับประทานเป็นผลไม้ได้ สามารถนำไปทำน้ำผลไม้ ทำไวน์ เป็นเครื่องดื่มที่ให้สีม่วงกินแก้ท้องร่วงและบิด เปลือกต้นต้มน้ำดื่มรักษาบิด เปลือกและใบมีรสฝาด ตำเป็นยาอม ยากวาด รักษาปากคอเปื่อย เป็นเม็ดตามลิ้นและคอ แก้น้ำลายเหนียว เมล็ดมีรสฝาด มีสารช่วยลดน้ำตาลในเลือด แก้ท้องเสีย ถอนพิษจากเมล็ดของต้นแสลงใจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง