เทพทาโร

เทพทาโร

ต้นเทพทาโรเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำพังงา เป็นพันธุ์ไม้ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพราะทุกส่วนของต้นเทพทาโรมีกลิ่นหอม ตั้งแต่ใบ เนื้อไม้ เปลือกต้น ผล ดอก ราก และเปลือกราก จึงเป็นที่นิยมในการนำไม้เทพทาโรมาแกะสลัก ทำของใช้ ของตกแต่งบ้าน และนำมากลั่นทำน้ำมันหอมระเหย สรรพคุณทางสมุนไพรของต้นเทพทาโรในการรักษาโรคต่างๆ เช่น แก้ไข้หวัด ตัวร้อน แก้อาการไอเรื้อรัง เป็นยาขับลม แก้ไขข้ออักเสบ น้ำมันหอมระเหยจากส่วนต่างๆ ของต้นเทพทาโรมาถูนวด แก้ปวดท้อง แก้แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แก้แมลงสัตว์กัดต่อย แก้ปวดเมื่อย

ชื่อสามัญ : Citronella laurel, True laurel

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cinnamomum porrectum Kosterm.

วงศ์ : LAURACEAE

ชื่ออื่น : จะไคหอม จะไคต้น (ภาคเหนือ), จวงหอม จวง (ภาคใต้), พลูต้นขาว (เชียงใหม่), เทพทาโร (ภาคกลาง, จันทบุรี, สุราษฎร์ธานี), มือแดกะมางิง (มลายู-ปัตตานี)

การแพร่กระจาย : ต้นเทพทาโรมีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียเขตร้อน มีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่ทิเบต มณฑลยูนานในจีน อินเดีย เทือกเขาตะนาวศรีในพม่า เวียดนาม คาบสมุทรอินโดจีน จนถึงแหลมมลายู ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาะสุมาตรา รวมถึงเกาะอื่นๆ ในอินโดนีเซีย สำหรับในประเทศไทยพบเทพทาโรได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยพบขึ้นกระจัดกระจายเป็นกลุ่มบนเขาในป่าดงดิบที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 0-800 เมตร

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

เทพทาโรเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่สูงได้ถึง 30 เมตร ไม่ผลัดใบหรือผลัดใบระยะสั้น เรือนยอดสีเขียวเข้ม เป็นพุ่มกลมทึบ ลำต้นเรียบไม่มีพูพอน เปลือกต้นสีน้ำตาลหรือเทาแก่ มีร่องแตกลึกตามยาวลำต้น เปลือกชั้นในสีน้ำตาลอมแดง มีกลิ่นหอม เนื้อไม้มีสีเทาแกมน้ำตาลเป็นมันเลื่อม มีริ้วสีเขียวแกมเหลือง เนื้อไม้เหนียวแข็งพอประมาณ มีกลิ่นหอมฉุน กิ่งมีลักษณะอ่อนเรียว เกลี้ยง และมักมีคราบขาว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม เรียงแบบเวียนสลับ ใบมีลักษณะรูปรีแกมรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบสอบถึงมน ผิวใบเกลี้ยง เนื้อใบค่อนข้างหนา ท้องใบมีนวลขาวอมเทา ใบอ่อนสีเขียว ใบแก่มีสีแดง มีเส้นใบหลัก 1 เส้น เส้นใบข้างโค้ง 3-7 คู่ นูนขึ้นทั้งสองด้าน ใบกว้างประมาณ 2.5-6 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-20 เซนติเมตร ก้านใบเรียวเล็ก ยาวประมาณ 1.2-2.5 เซนติเมตร ดอกออกตามปลายกิ่ง เป็นช่อกระจุกคล้ายร่ม ช่อยาวประมาณ 8-10 เซนติเมตร ใน 1 ช่อมีดอกย่อยประมาณ 13-14 ดอก ดอกมีขนาดเล็กสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอมหวาน กลีบดอก มี 6 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่สีเหลืองอ่อน ภายในดอกมีขนเล็กน้อย ดอกมีเกสรตัวผู้ 9 อัน ส่วนก้านช่อดอกมีลักษณะเรียวมีความยาวประมาณ 5-6 เซนติเมตร ผลออกเป็นพวงมีขนาดเล็กเกลี้ยง ทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 7-8 มิลลิเมตร มีกลิ่นหอม ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่มีสีม่วงดำ ก้านผลเรียวยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ที่ขั้วมีกลีบเลี้ยงรูปถ้วย ไม่มีซี่หยักติดอยู่

ฤดูออกดอก :

การขยายพันธุ์ : ต้นเทพทาโรสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด การปักชำกิ่งและการตอนกิ่ง แต่วิธีที่นิยมใช้ในการขยายพันธุ์ต้นเทพทาโรคือการปักชำกิ่งและการตอนกิ่ง เพราะการเพาะเมล็ดจะมีอัตราการงอกน้อยและใช้ระยะเวลาในการเพาะนานถึง 90 วัน

การปลูก : ต้นเทพทาโรเป็นไม้กลางแจ้ง สามารถปลูกขึ้นได้ดีในสภาพดินทุกชนิด ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง

การใช้ประโยชน์ :

ปัจจุบันนิยมนำต้นเทพทาโรมาใช้ประโยชน์ในงานแกะสลัก โดยใช้เนื้อไม้และรากทำผลิตภัณฑ์ไม้แกะสลัก ส่วนเศษไม้ที่เหลือจากการแกะสลักนำไปกลั่นน้ำมันหอมระเหย เศษเหลือจากการกลั่นน้ำมันหอมระเหยนำมาทำธูปหอม กำยาน อีกทั้งยังมีการนำเนื้อไม้ของเทพทาโรมาใช้ทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ชิ้นไม้ส่วนรากนำมาห่อใส่ในตู้เสื้อผ้ากันมอดและแมลง น้ำมันหอมระเหยนำมาใช้ทำผลิตภัณฑ์ แชมพู สบู่ ยานวด ทำยาหม่อง และหัวเชื้อน้ำหอม ส่วนต่างๆ ของต้นเทพทาโรมีสรรพคุณทางสมุนไพรใช้รักษาโรคได้ เช่น เมล็ดนำมาบดเป็นผงชงกับน้ำดื่มแก้ไข้หวัด ตัวร้อน อาการไอเรื้อรัง ออกหัดตัวร้อน รากแห้งดองกับเหล้าดื่มเป็นยาขับลม แก้ไขข้ออักเสบ เมล็ดนำมาต้มกับใบยูตาลิปตัสรับประทานแก้โรคบิด เปลือกต้นต้มกับน้ำดื่มแก้ลมป่วง เปลือกต้นมาฝนกับเปลือกหอยขมผสมกับน้ำซาวข้าวดื่มแก้สะอึก แก้ไข้ น้ำมันหอมระเหยจากส่วนต่างๆ ของต้นเทพทาโรมาถูนวด แก้ปวดท้อง แก้แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แก้แมลงสัตว์กัดต่อย แก้ปวดเมื่อย

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง