พลับพลา

พลับพลา

ต้นพลับพลาเป็นพันธุ์ไม้ที่พบกระจายพันธุ์ในแถบประเทศเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศอินเดีย ศรีลังกา เวียดนาม ไทย ลาว พม่า มาเลเซีย กัมพูชา จีน ไปจนถึงอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ โดยพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าผลัดใบผสม และป่าดิบแล้ง เนื้อไม้ของต้นพลับพลามีความทนทานสูงจึงนิยมนำมาใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือใช้ทำเครื่องเรือน พลับพลายังมีสรรพคุณทางสมุนไพร เช่น แก่นใช้เป็นส่วนผสมของยาแก้หืด เป็นยาบำรุงโลหิตสตรี ผลแก่มีรสเปรี้ยวใช้รับประทานเป็นยาระบาย ช่วยกระจายโลหิต ลำต้นใช้เป็นยาประกอบรักษาโรคลำไส้ เป็นต้น

ชื่อสามัญ :

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Microcos tomentosa Smith

วงศ์ : TILIACEAE

ชื่ออื่น : หลาย (แม่ฮ่องสอน), กะปกกะปู (พิษณุโลก), สากกะเบือละว้า (สุโขทัย), คอมขน (ชัยภูมิ), มลาย (ชลบุรี จันทบุรี ตราด), พลาขาว (ชุมพร), พลาลาย (ตรัง), พลา (ยะลา ปัตตานี ระนอง), พลับพลา ขี้เถ้า (ภาคกลาง), กอม กะปกกะปู คอม พลา ลาย สากกะเบือดง สากกะเบือละว้า หมากหอม (ภาคเหนือ), คอมเกลี้ยง พลองส้ม (ภาคตะวันออก), ก้อมส้ม คอมส้ม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), หมากหอม (ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), น้ำลายควาย พลาขาว พลาลาย (ภาคใต้), มลาย (ภาคตะวันออกเฉียงใต้), จือมือแก (มลายู-ภาคใต้), ปะตัดหูเปี้ยว (เมี่ยน), เกลี้ยง ก่อออม กะผล้า ขนาน ข้าวจี่ จุกขวด ม่วงก้อม มะก้อม มะคอม ม้าลาย ไม้ลาย ลอมคอม

การแพร่กระจาย : ต้นพลับพลาพบกระจายพันธุ์ในแถบประเทศเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศอินเดีย ศรีลังกา เวียดนาม ไทย ลาว พม่า มาเลเซีย กัมพูชา จีน ไปจนถึงอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ โดยพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าผลัดใบผสม และป่าดิบแล้ง ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 50-300 เมตร

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

ต้นพลับพลาเป็นไม้ยืนต้นหรือไม้พุ่มขนาดกลาง ลำต้นตั้งตรง สูงได้ถึง 15 เมตร เปลือกต้นสีเทา แตกล่อนเป็นสะเก็ดบางๆ เปลือกในสีชมพู มีเส้นใยเรียงตัวเป็นชั้น กิ่งอ่อนและก้านใบ มีขนรูปดาวหนาแน่น ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปวงรีแกมไข่กลับ กว้างประมาณ 3-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 6.5-19 เซนติเมตร ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีเขียวหม่น ปลายใบแหลม โคนใบสอบมนหรือกลม ขอบใบหยักฟันเลื่อยไม่เป็นระเบียบที่ปลายใบ ส่วนกลางและโคนใบขอบเรียบ ปลายใบเป็นติ่งแหลมสั้นๆ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงกึ่งหนาคล้ายแผ่นหนัง มีขนรูปดาว ทั้งสองด้าน ด้านล่างมีขนหนาแน่นกว่าด้านบน มีเส้นแขนงใบข้างละ 4-9 เส้น มี 3 เส้นออกจากโคนใบ เส้นใบย่อยคล้ายขั้นบันได เห็นชัดเจนที่ด้านล่าง ก้านใบยาว 6-12 มิลลิเมตร มีขนหนาแน่น ดอกออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ช่อยาวประมาณ 3-15 เซนติเมตร ก้านดอกยาว 6-8 มิลลิเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 มิลลิเมตร ก้านและแกนช่อดอกมีขนหนาแน่น ดอกย่อยตูมกลมมีจำนวนมาก กลีบดอกสีเหลือง ใบประดับรูปแถบหรือรูปใบหอก ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร มีขนหนาแน่น กลีบเลี้ยง 5 กลีบแยกจากกันเป็นอิสระ รูปช้อน กว้างประมาณ 2 มิลลิเมตร ยาว 6-7 มิลลิเมตร มีขนทั้งสองด้าน กลีบดอก 5 กลีบแยกจากกันเป็นอิสระ รูปไข่แกมรูปใบหอก กว้าง 0.5-1.5 มิลลิเมตร ยาว 1.5-3 มิลลิเมตร มีขนสั้นๆ ทั้งสองด้าน โคนกลีบด้านในมีต่อมรูปรี เกสรตัวผู้จำนวนมากล้อมรอบรังไข่ ก้านชูอับเรณู โคนมีขน ปลายเกลี้ยง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบดอก รูปกลม กว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร มีขนหนาแน่นมี 2-4 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 2 เม็ด ผลรูปทรงกลมแกมไข่กลับ กว้าง 0.6-1 เซนติเมตร ยาว 1-1.2 เซนติเมตร ผลผนังชั้นในแข็ง ผนังผลคล้ายแผ่นหนัง มีขน ผลแก่สีเขียว ผลสุกสีม่วงดำ ภายในมีเมล็ดแข็ง 1 เมล็ด ผลสุกรับประทานได้

ฤดูออกดอก : ต้นพลับพลาออกดอกและเป็นผลช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนตุลาคม

การขยายพันธุ์ : ต้นพลับพลาขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

การปลูก : ต้นพลับพลาเป็นต้นไม้ที่สามารถปลูกได้ในดินทุกชนิด และควรปลูกในบริเวณที่แสงแดดเข้าถึงได้อย่างเต็มที่ เพราะต้นพลับพลาเป็นไม้ที่ชอบอยู่ในที่แสงแดดจัด ต้องการแสงแดดในปริมาณที่มาก ควรรดน้ำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้งขึ้นไป

การใช้ประโยชน์ :

สรรพคุณทางสมุนไพรของพลับพลา ใช้แก่นพลับพลาผสมแก่นโมกหลวง ลำต้นกำแพงเจ็ดชั้น ลำต้นสบู่ขาว ลำต้นพลองเหมือด แก่นจำปา และลำต้นคำรอก นำมาต้มกับน้ำดื่มช่วยแก้หืด เปลือกใช้ผสมปรุงเป็นยาบำรุงโลหิตสตรี ผลแก่มีรสเปรี้ยวใช้รับประทานเป็นยาระบาย ช่วยกระจายโลหิต ลำต้นใช้เป็นยาประกอบรักษาโรคลำไส้ เปลือกต้นใช้ทำลายพิษของต้นยางน่องได้ นอกจากสรรพคุณทางสมุนไพรของพลับพลาแล้ว ยังมีการใช้ประโยชน์อื่นๆ เช่น เนื้อไม้ของต้นพลับพลามีความทนทานสูงจึงนิยมนำมาใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือใช้ทำเครื่องเรือน เส้นใยจากเปลือกต้นพลับพลาสามารถนำมาใช้ทำเชือกแบบหยาบๆ ได้ ไม้พลับพลาเป็นเชื้อเพลิงที่ติดไฟได้ง่ายแม้เป็นไม้สด คนใต้สมัยก่อนจึงนิยมนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเผาศพ และใช้ในการอยู่ไฟของสตรีคลอดบุตรใหม่ๆ และน้ำมันยางจากเปลือกสามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้อีกด้วย

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง