เล็บมือนาง

เล็บมือนาง

เล็บมือนาง ไม้เลื้อยประดับ

ชื่อสามัญ : Rangoon Creeper

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Quisqualia indica Linn.

วงศ์ : COMBRETACEAE

ชื่ออื่น : อ้อยช้าง (อุตรดิตถ์), แสมแดง (ชุมพร), เล็บนาว (สตูล), มะจีมั่ง จ๊ามัง จะมั่ง (ภาคเหนือ), นิ้วมือพระนารายณ์ (ใต้), ไท้หม่อง (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), วะดอนิ่ง อะดอนิ่ง (มะลายู-ยะลา)

ถิ่นกำเนิด : เล็บมือนางเป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียใต้ ประเทศอินเดีย และศรีลังกา

ลักษณะทั่วไป :

ต้น เล็บมือนางเป็นไม้เถาเนื้อแข็งขนาดกลาง มีอายุหลายปี เลื้อยพาดพันไปกับต้นไม้อื่นได้ไกลประมาณ 5-10 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่มหนาทึบ เถาอ่อนเป็นสีเขียว มีขนสีน้ำตาลอมเทาขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วบริเวณ แต่กิ่งที่แก่แล้วเปลือกลำต้นจะเป็นสีน้ำตาลปนแดง ผิวจะเกลี้ยงไม่มีขน หรือบางทีขนก็กลายไปเป็นหนาม

ใบ เล็บมือนางเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอก ขอบใบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบเว้าเข้าเล็กน้อย ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่น แผ่นใบเป็นสีเขียว ใบอ่อนเป็นสีเขียวอมแดง เนื้อใบบางค่อนข้างเหนียว ท้องใบมีขนปกคลุมเป็นจำนวนมาก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 7-9 เซนติเมตร และยาวประมาณ 15-18 เซนติเมตร ก้านใบยาวประมาณ 1 เซนติเมตร

ดอก ออกเป็นช่อตามปลายกิ่งแขนง ช่อละหลายสิบดอก ดอกมีลักษณะเป็นหลอดยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร หลอดของดอกห้อยโค้งลงเล็กน้อย มีกลีบที่ปลายหลอดดอกละ 5 กลีบ กลีบดอกเรียบปลายมนคล้ายเล็บมือ มีเกสรยาวๆ ยื่นออกมาจากกลางดอก 5 อัน ดอกเล็บมือนางเมื่อเริ่มบานมีสีขาว แล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีชมพูและสีแดงเข้มขึ้นตามลำดับจนดอกโรย เนื่องจากในแต่ละช่อมีดอกจำนวนมากและบานไม่พร้อมกัน จึงจะเห็นในแต่ละช่อมีทั้งดอกสีขาว สีชมพูและสีแดงอยู่ด้วยกัน ดอกเล็บมือนางมีกลิ่นหอมเย็น โดยเฉพาะในช่วงอากาศเย็นในเวลากลางคืน และกลิ่นจะจางลงเมื่ออากาศร้อน

ผลและเมล็ด ผลเป็นผลแห้งและแข็ง ลักษณะของผลเป็นรูปกระสวย มีสัน 5 สันตามยาว ผลมีขนาดโตประมาณ 1-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ผลอ่อนสีเขียว ผลสุกเป็นสีน้ำตาลอมสีดำ ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด

ฤดูออกดอก : ออกดอกตลอดปี แต่จะออกดอกดกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน

การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์โดยการปักชำกิ่ง การตอนกิ่ง และการเพาะเมล็ด ส่วนการเพาะด้วยเมล็ดจะโตช้า จึงนิยมการตอนกิ่งมากกว่า

การปลูก :

โดยทั่วไปนิยมปลูกต้นเล็บมือนางไว้ประดับบ้านหรือปลูกตามสวนสาธารณะ ปลูกบริเวณรั้วหรือซุ้มประตูเพื่อให้ต้นเล็บมือนางเลื้อยยึดเกาะ เมื่อเล็บมือนางออกดอกก็จะทำให้ดูสวยงาม โดยการนำกิ่งที่ได้จากการปักชำหรือการตอนมาปลูกลงดิน และบริเวณที่ปลูกควรได้รับแสงแดดมากพอสมควร

การดูแลรักษา :

แสง เล็บมือนางเป็นไม้กลางแจ้งที่ต้องการแสงมากพอสมควร เพราะหากได้รับแสงไม่เพียงพอ จะทำให้ต้นเล็บมือนางไม่เจริญงอกงามเท่าที่ควร และดอกก็จะไม่สวย

ดิน เล็บมือนางเป็นไม้ที่ขึ้นง่าย ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องดินปลูกมากนัก แต่ถ้าปลูกด้วยดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำได้ดี มีความอุดมสมบูรณ์ จะทำให้เจริญงอกงามดี

น้ำ เล็บมือนางมีความต้องการน้ำปานกลาง ในระยะแรกของการปลูก ควรรดน้ำทุกวัน วันละ 2 ครั้ง เมื่อต้นโตดีแล้ว จึงรดน้ำวันละครั้งในช่วงเช้า หรือวันเว้นวันก็ได้

ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักในการผสมดินปลูกในระยะแรกของการปลูก เมื่อต้นแตกยอดดีแล้ว หากต้องการให้ต้นและใบเจริญงอกงามควรรดด้วยปุ๋ยยูเรียสัปดาห์ละครั้ง แต่ในช่วงที่เล็บมือนางออกดอกควรรดด้วยปุ๋ยบำรุงดอกแทน

โรคและแมลง โดยส่วนใหญ่จะไม่มีโรคและแมลงรบกวนมากนัก

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง