หัว…ไหล…เหง้า…แง่ง…ง…งง…?

หัว…ไหล…เหง้า…แง่ง…ง…งง…?

จากหัวเรื่องหลายคนอาจอ่านแล้วขัดๆ ” หัว….ไหล….เหง้า….แง่ง….” เป็นสิ่งที่ได้ยินกันอยู่บ่อยๆ แต่หลายคนยัง…งง…อยู่ว่ามันแตกต่างกันยังไง โดยเฉพาะคำว่า “หัว” ที่มักใช้เรียกส่วนของพืชที่มีลักษณะกลม และเจริญเติบโตอยู่ใต้ดิน ซึ่งอันที่จริงแล้วอาจเป็นส่วนของ ใบ ลำต้น หรือ ราก ของพืชที่สะสมอาหารจนอวบใหญ่จนเป็นหัวลักษณะกลม และบางครั้งส่วนที่เป็น ไหล หรือ เหง้า ก็ถูกรวมเรียกว่าหัวด้วยเช่นกัน ซึ่งแท้จริงแล้วในทางพฤกษาศาสตร์ได้แยกลักษณะของหัวและเรียกต่างกัน ดังนี้

หัวกลีบ (Bulb)

เป็นลำต้นใต้ดินที่ตั้งตรงมีข้อปล้องสั้นมาก ตามปล้องมี ใบเกล็ด (Scale Leaf) ทำหน้าที่สะสมอาหารซ้อนห่อหุ้มลำต้นไว้หลายชั้นจนเห็นเป็นหัวลักษณะกลม ส่วนล่างของลำต้นมีรากเป็นกระจุก เช่น หอม กระเทียม พลับพลึง ว่านสี่ทิศ

หัวกลม (Tuber)

เป็นลำต้นใต้ดินสั้นๆ ประกอบด้วยข้อและปล้อง 3-4 ปล้องไม่มีใบเกล็ด ลำต้นมีอาหารสะสมทำให้อวบกลม มีตาอยู่โดยรอบซึ่งตาเหล่านี้สามารถงอกเป็นต้นใหม่ได้ ได้แก่ มันฝรั่ง มันหัวเสือ

หัวเหมือนหัวเผือก (Corm)

เป็นลำต้นใต้ดินที่มีลำต้นตั้งตรง ลักษณะกลมยาวหรือกลมแบน มีข้อปล้องเห็นชัด ตามข้อมีใบเกล็ดบางๆ หุ้ม ลำต้นสะสมอาหารทำให้อวบกลม มีตาตามข้อสามารถงอกเป็นใบโผล่ขึ้นเหนือดินหรืออาจแ ตกเป็นลำต้นใต้ดินต่อไปได้ ด้านล่างของลำต้นมีรากฝอยเส้นเล็กจำนวนมาก ได้แก่ เผือก แห้ว บัวสวรรค์ ซ่อนกลิ่น

ไหล (Stolon)

เป็นลำต้นเลื้อยไปตามผิวดินหรือผิวน้ำ มีข้อปล้องชัดเจน ตามข้อมีรากแทงลงไปในดินเพื่อช่วยยึดลำต้น นอกจากนี้บริเวณข้อจะมีตาเจริญไปเป็นแขนงยาวขนานไปกับพื้นดินหรือผิวน้ำ ซึ่งจะงอกรากและลำต้นขึ้นใหม่ ได้แก่ สตรอเบอรี่ บัวบก ผักบุ้ง แว่นแก้ว หญ้านวลน้อย

เหง้า หรือ แง่ง (Rhizome)

เป็นลำต้นใต้ดินที่มักเจริญในแนวขนานกับผิวดิน อาจมีลักษณะกลมแตกติดต่อกันหรือกลมยาว มีข้อและปล้องสั้นๆ มีใบเกล็ด หุ้มตาไว้ ตาอาจแตกแขนงเป็นลำต้นใต้ดิน หรือลำต้นและใบแทงขึ้นเหนือดินมีส่วนรากแทงลงดิน ได้แก่ ขมิ้น ขิง ข่า พุทธรักษา

หัวราก (Storage root)

เป็นรากชนิดหนึ่งที่ทำหน้าที่สะสมอาหารพวกแป้ง น้ำตาล หรือโปรตีน ทำให้มีลักษณะอ้วนใหญ่ ซึ่งเรียกว่าหัว โดยบางชนิดอาจเปลี่ยนมาจากรากแก้ว เช่น หัวผักกาด แครอท ทูลิบ บางชนิดอาจเปลี่ยนมาจากรากแขนง เช่น มันสำปะหลัง มันแกว มันเทศ ถั่วพู

เอกสารอ้างอิง

  • พฤกษศาสตร์ Botany, ดร.สมบุญ เตชะภิญญาวัฒน์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • คู่มือเซียนว่าน, บุญค้ำ ไชยพรหมวงศา, สำนักพิมพ์อินทรีย์
  • รูปจาก Internet

เกร็ดพรรณไม้

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง