พะยอม

พะยอม

ต้นพะยอมเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดพัทลุง มีความเชื่อกันว่าต้นพะยอมเป็นต้นไม้มงคล หากบ้านใดปลูกต้นพะยอมภายในบริเวณบ้านจะทำให้ไม่ขัดสนเรื่องเงินทอง ผู้คนรักใคร่ อยากช่วยเหลือ หรือเห็นอกเห็นใจ เนื่องจากคำว่า พะยอม มีความหมายว่า การยินยอม ผ่อนผัน หรือการประนีประนอม ต้นพะยอมยังมีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพรไทยสามารถรักษาโรคได้หลายอาการ เช่น ปรุงเป็นยาแก้ลม บำรุงหัวใจ ลดไข้ แก้ท้องร่วง แก้ลำไส้อักเสบ สมานบาดแผล รักษาผดผื่นคัน นอกจากนี้ดอกอ่อนของต้นพะยอมยังนำมาปรุงเป็นอาหารได้อีกด้วย

ชื่อสามัญ : Shorea

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Shorea roxburghii G. Don

วงศ์ : DIPTEROCARPACEAE

ชื่ออื่น : กะยอม (เชียงใหม่), ขะยอม (ลาว), ขะยอมดง พะยอมดง (ภาคเหนือ), แคน (ลาว), เชียง เซี่ยว (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), พะยอม (ภาคกลาง), พะยอมทอง (สุราษฎร์ธานี, ปราจีนบุรี), ยางหยวก (น่าน)

การแพร่กระจาย : ต้นพะยอมเป็นไม้พื้นเมืองของเอเชีย พบกระจายพันธุ์ทั่วไปในแถบประเทศพม่า ไทย มาเลเซีย ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ ลาว พบตามป่าเบญจพรรณแล้ง และชื้น ป่าดิบแล้งที่สูงจากระดับน้ำทะเล 60-1,000 เมตร

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

ต้นพะยอมเป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 15-30 เมตร เป็นไม้ผลัดใบระยะสั้น เรือนยอดรูปไข่หนาทึบ เปลือกต้นสีเทาเข้ม แตกเป็นร่องตามยาว มีเนื้อไม้แข็ง สีเหลืองอ่อนแกมสีเขียว กิ่งก้านสีน้ำตาลเข้มเป็นมัน ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ ใบรูปรีหรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายใบมนหรือเป็นติ่งสั้น โคนใบมน แผ่นใบเกลี้ยง สีเขียวเข้มเป็นมัน ใต้ใบมีขนนุ่ม สีน้ำตาล ขอบใบเรียบ ขนาดใบกว้างประมาณ 3 -6 เซนติเมตร ยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร ก้านใบเรียวเล็กยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อแบบช่อแขนงขนาดใหญ่ที่ปลายกิ่งหรือตามกิ่ง ช่อดอกยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร ออกดอกพร้อมกันเกือบทั้งต้น ดอกสีขาวหรือครีม มีกลิ่นหอมมาก กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน ปลายแยกออกเป็น 5 กลีบ กลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอกบิดเป็นเกลียว เรียงเวียนแบบกังหัน โคนกลีบดอกเชื่อมกันที่ฐาน เส้นผ่าศูนย์กลางดอกประมาณ 1.5-3.5 เซนติเมตร เกสรตัวผู้มี 15 อัน เรียงเป็น 3 ชั้น อับเรณูปลายยาว เกสรตัวเมียเรียวเล็กยาวเท่ากับรังไข่ ปลายแยกออกเป็น 3 แฉก ผลมีปลีก 5 ปลีก ปีกยาว 3 ปีก ปีกสั้น 2 ปีก ผลรูปรี ปลายยาวและแหลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.2-1.4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ปีกมีลักษณะแคบปลายแหลม ปีกยาวมีขนาดยาวประมาณ 6-8 เซนติเมตร กว้างประมาณ 0.6-1.0 เซนติเมตร ปีกสั้นมีขนาดยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร กว้างประมาณ 0.3-0.4 เซนติเมตร

ฤดูออกดอก : ต้นพะยอมจะออกดอกช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ และจะติดผลในช่องเดือนมกราคมไปจนถึงเดือนมีนาคม

การขยายพันธุ์ : การขยายพันธุ์ต้นพะยอมนั้นนิยมขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง แต่การตอนกิ่งจะออกรากยาก

การปลูก : ต้นพะยอมเป็นต้นไม้ที่สามารถทนทานต่อความแห้งแห้งได้ดี ชอบแสงแดดจัด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนดินทรายหรือดินที่สามารถระบายน้ำได้ดี ถ้าปลูกในดินเหนียวที่แฉะต้นจะออกดอกน้อย

การใช้ประโยชน์ :

ต้นพะยอมเป็นต้นไม้ที่มีทรงพุ่มและดอกที่สวยงาม มีกลิ่นหอม ปลูกเพื่อให้ร่มเงา ไม้พะยอมมีสีเหลืองอ่อน สวยงาม เนื้อไม้มีความแข็งแรง ทนทาน มีความคล้ายคลึงกันกับไม้ตะเคียนทอง นิยมนำมาแปรรูปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ทำเฟอร์นิเจอร์ เสาบ้าน ตง รอด พื้น ฝาบ้าน เป็นต้น ดอกอ่อนของต้นพะยอมสามารถนำมาปรุงรับประทานเป็นอาหารได้ นำมาแกงส้ม ต้มจืด ผัดน้ำมันหอย ผัดไข่ ชุบไข่หรือแป้งทอด ลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริก ซึ่งดอกพะยอมอุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรต โปรตีน เส้นใย ไขมัน และธาตุเหล็ก ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เปลือกต้นนำมาใส่น้ำตาลสดที่ปาดจากงวงตาลเพื่อกันบูด หรือใส่ในเครื่องหมักดองเพื่อกันบูด ชันไม้ใช้เป็นน้ำมันชักเงาและยาเรือ ต้นพะยอมยังมีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพรไทยสามารถรักษาโรคได้หลายอาการ เช่น ดอกมีรสหอมสุขุม ปรุงเป็นยาแก้ลม บำรุงหัวใจ ลดไข้ เปลือกต้นรสฝาด ต้มดื่มแก้ท้องร่วง แก้ลำไส้อักเสบ ฝนทาสมานบาดแผล ชำระแผล รักษาผดผื่นคัน ยอดอ่อนและเปลือกเป็นยาสมานแผล ทำยาเย็นแก้ไข้ แก้ร้อนใน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง