เขตคลองเตย

เขตคลองเตย

บริเวณคลองเตยในปัจจุบันนั้นในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของ เมืองปากน้ำพระประแดง เป็นเมืองหน้าด่านปากน้ำเจ้าพระยาก่อนที่จะขึ้นไปสู่เมืองอื่นๆ ในสมัยกรุงธนบุรีพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ให้รื้อกำแพงเมืองพระประแดงมาสร้างวังส่งผลให้เมืองพระประแดงได้หายสาบสูญไปในสมัยนั้น ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดให้กรมพระราชวังบวรฯ ลงไปสำรวจปากแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อสร้างเมืองใหม่ และมีการสร้างป้อมขึ้นมา หนึ่งป้อมตรงฝั่งซ้ายแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณคลองลัดโพธิ์ ป้อมนี้ชื่อว่าป้อมวิทยาคม ต่อมาในรัชสมัยพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงทำการสร้างเมืองต่อจากรัชกาลที่ 1 ให้นามว่า เมืองนครเขื่อนขันธ์ ซึ่งก็คือ พระประแดง ในปัจจุบัน

เมื่อมีการจัดการปกครองส่วนภูมิภาคในสมัยรัชกาลที่ 5 บริเวณนี้จึงอยู่ในเขตการปกครองของ จังหวัดพระประแดง โดยมีฐานะเป็น ตำบลคลองเตย อำเภอพระโขนง ต่อมาอำเภอพระโขนงได้ย้ายมาขึ้นกับจังหวัดพระนคร และได้มีการยุบรวมจังหวัดธนบุรีกับจังหวัดพระนคร เปลี่ยนฐานะเป็นนครหลวงกรุงเทพธนบุรีและกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้เปลี่ยนการเรียกหน่วยการปกครองใหม่ด้วย ตำบลคลองเตยจึงเปลี่ยนแปลงฐานะเป็น แขวงคลองเตย เป็นพื้นที่การปกครองของสำนักงานเขตพระโขนง

ภายหลังเขตพระโขนงมีความเจริญและมีประชากรหนาแน่นขึ้น พื้นที่บางแห่งอยู่ไกลจากสำนักงานเขต ในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2532 กรุงเทพมหานครจึงได้จัดตั้งสำนักงานเขตพระโขนง สาขา 1 (คลองเตย) ขึ้นดูแลแขวงคลองเตย แขวงคลองตัน และแขวงพระโขนง และในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2532 กระทรวงมหาดไทยได้แบ่งพื้นที่ 3 แขวงดังกล่าวตั้งเป็น เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร

จนกระทั่งในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2538 กรุงเทพมหานครได้จัดตั้งแขวงคลองเตยเหนือ แขวงคลองตันเหนือ และแขวงพระโขนงเหนือ โดยใช้ถนนสุขุมวิทเป็นเส้นแบ่งเขตออกจากแขวงเดิม และให้สำนักงานเขตคลองเตย สาขา 1 ดูแลพื้นที่แขวงใหม่ดังกล่าวซึ่งต่อมาได้แยกออกไปเป็นเขตวัฒนาในปี พ.ศ.2540

คลองเตย ได้ชื่อตามคลองอันเป็นสัญลักษณ์ของท้องถิ่น สันนิษฐานจากชื่อเรียก ต้นเตยที่ขึ้นมากบริเวณริมคลอง ในสมัยนั้น เป็นที่เปลี่ยว พื้นที่เป็นท้องนาและสวนผักอยู่โดยมาก ชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมใช้เรือเป็นพาหนะเดินทางขึ้นล่องไปมาค้าขายตามลำคลอง ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บ้านเมืองมีความเจริญ มีการคมนาคมทางบกคับคั่ง จึงต้องถมคลองเพื่อขยายถนน บริเวณคลองเตยนี้ จึงไม่มีคลองอีกต่อไป หลงเหลือไว้แต่ชื่อคลองเตยเท่านั้น

ต้นเตย

เตย ต้นเตย คลองเตย
ชื่อสามัญ: Pandom wangi, Pandanus Palm , Fragrant Pandan
ชื่อวิทยาศาสตร์: Pandanus amaryllifolius come
วงศ์: PANDANACEAE
ชื่ออื่นๆ: ภาคกลาง และทั่วไป เตย, เตยหอม, เตยหอมใหญ่, เตยหอมเล็ก, ภาคเหนือ หวานข้าวไหม้ ภาคใต้และแถบมลายู ปาแนะวองิง, ปาแง๊ะออริง, ปาแป๊ะออริง
ลักษณะทั่วไป: เตยหรือเตยหอม เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวยืนต้น แตกกอเป็นพุ่มขนาดเล็ก ลำต้นเป็นข้อ เมื่อโตจะมีรากค้ำจุนช่วยพยุงลำต้นไว้ ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียวเข้มเป็นมัน ออกเรียงสลับเวียนเป็นเกลียวขึ้นไปจนถึงยอด ใบเป็นทางยาวเรียวคล้ายใบหอก ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ แต่ใบบางต้นอาจมีหนาม เส้นกลางใบเว้าลึกเป็นแอ่ง ในใบมีกลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหย Fragrant Screw Pine สีเขียวจากใบเป็นสีของคลอโรฟิลล์ ใช้แต่งสีขนมได้
ถิ่นกำเนิด: ประเทศไทย และแถบประเทศมาลายู
ประโยชน์: ใบเตยมีประโยชน์ทางด้านอาหารมาก เนื่องจากใบมีกลิ่นหอมอ่อนคล้ายข้าวใหม่ ซึ่งช่วยปรับแต่งกลิ่นของอาหารให้น่ารับประทานขึ้น รวมถึงน้ำมันหอมระเหยจากใบยังใช้ประโยชน์ในทางยา และความสวยความงามได้ด้วย


ชื่อบางกับพรรณไม้

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง