เขตวังทองหลาง

เขตวังทองหลาง

เขตวังทองหลางแต่เดิมพื้นที่บริเวณนี้เรียกโดยรวมว่า ทุ่งบางกะปิ ตั้งอยู่แถบชานเมือง ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ห่างจากพระนครประมาณ 16 กิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่ เป็นทุ่งนา เวิ้งว้างสุดลูกหูลูกตา และบางส่วนเป็นป่าทึบ มีพื้นที่ส่วนใหญ่ติดต่อกับทุ่งพญาไท ทุ่งบางเขน หนองจอก บางน้ำเปรี้ยว คลองกระจะ เลยไปจนถึงวัดใหม่ช่องลมและวัดอุทัยธาราม

ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีการยกกองทัพไปตีหัวเมืองชายแดนภาคใต้ และเมื่อมีชัยชนะก็มักจะกวาดต้อนชาวเมืองส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ให้มาอยู่อาศัยในเขตรอบๆ พระนคร เช่น บ้านครัว บ้านดอน คลองตัน บางกะปิ มีนบุรี ประเวศ หนองจอก เป็นต้น ชุมชนชาวมุสลิมที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตบางกะปิ ชุมชนแถวนี้แต่เดิมเรียกกันว่า “บ้านตึก” เป็นป่าอ้อ ซึ่งคนส่วนใหญ่มีพื้นเพมาจากหัวเมืองปัตตานี

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3 ) โปรดเกล้าฯ ให้ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพใหญ่ไปปราบญวนและเขมรที่มักก่อความวุ่นวายอยู่เสมอ ท่านจึงเลือกเอาทุ่งบางกะปิเป็นพื้นที่พักไพร่พล โดยให้ทัพช้างพักไพร่พลอยู่อีกฟากหนึ่งของคลองแสนแสบ ซึ่งสถานที่แห่งนั้นคือบริเวณวัดเทพลีลา (วัดตึก) ในแขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ

เนื่องจากบริเวณที่ตั้งชุมชนคลองแสนแสบนั้นมีลักษณะคดโค้งเป็นวังน้ำขนาดใหญ่ และตลอดริมฝั่งคลองในช่วงนี้รวมไปถึง คลองเจ้าคุณสิงห์ มีต้นทองหลางน้ำ (Erythrina fusca) ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ที่ดินส่วนใหญ่ยังเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ผู้คนจึงเรียกพื้นที่แถบนี้ว่า “วังทองหลาง”

ต้นทองหลาง

ต้นทองหลาง วังทองหลาง

ชื่อสามัญ: Indian Coral Tree, Variegated coral tree, Variegated Tiger’s Claw
ชื่อวิทยาศาสตร์: Erythrina variegate Linn.
วงศ์: LEGUMINOSAE
ถิ่นกำเนิด: แถบเอเชียเขตร้อนและอบอุ่น อินเดีย แอฟริกา อเมริกาใต้ และ ออสเตรเลีย
ลักษณะทั่วไป: ต้นทองหลางเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบ สูงประมาณ 10-20 เมตร ผิวเปลือกลำต้นบาง เปลือกเป็นลายคล้ายเปลือกแตกตื้นๆ สีเทาอ่อนและเหลืองอ่อนๆ ลำต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลมคม หรือบางชนิดมีหนามเล็กๆ แหลมคมตลอด เรือนยอดเป็นพุ่มกลมโปร่ง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบ ใบกลางโตกว่าสองใบด้านข้าง ใบรูปไข่หรือรูปขอบขนาน กว้าง 5–8 เซนติเมตร ยาว 10–15 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบสอบ แผ่นใบหนาและเหนียว ดอกออกเป็นช่อติดกันเป็นกลุ่มออกตามบริเวณข้อต้น หรือโคนก้านใบ ลักษณะดอกคล้ายกับดอกถั่วมีสีแดง หรือชมพู กลีบดอกกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร ช่อดอกยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ผลเป็นฝักแบนโค้งเล็กน้อย ยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร เป็นข้อๆ สีน้ำตาลเข้ม โคนฝักลีบเล็ก เมื่อฝักแก่ฝักจะแตกที่ปลายแล้วอ้าออก ภายในฝักมีเมล็ดเป็นเหลี่ยม บางฝักยาวคอดเป็นข้อๆ สีน้ำตาลเข้ม และบางฝักแคบ ภายในมีเมล็ด 2-4 เมล็ด เมล็ดลักษณะรูปร่างกลม สีแสด ออกดอกประมาณเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ และติดผลในเดือนมีนาคม-เมษายน
การขยายพันธุ์: ด้วยเมล็ด การปักชำ และ การตอน
ประโยชน์: ปลูกเป็นไม้ประดับ เป็นไม้มงคลประจำบ้าน ราก ลำต้น ใบ และดอกเป็นปุ๋ยอย่างดีสำหรับพืช ดูดซับน้ำในดินไว้เลี้ยงลำต้นได้มากกว่าพืชทุกชนิด ใบทองหลางอุดมด้วยโปรตีนเหมาะที่จะใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น วัว ควาย แพะ แกะ ส่วนใบอ่อนเป็นผักนิยมใช้รับประทานร่วมกับเมี่ยงคำ ร่วมกับส้มตำมะละกอ เป็นผักจิ้มน้ำพริก เป็นผักสดเคียงเมี่ยง ปลาทู ปลาแหนม เป็นต้น


ชื่อบางกับพรรณไม้

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง