เขตปทุมวัน

เขตปทุมวัน

ย้อนหลังไปประมาณสองร้อยปีก่อน ท้องที่เขตปทุมวันมีลักษณะเป็นทุ่งนา มีสภาพเป็นชนบทชานเมือง การไปมาหาสู่ใช้เส้นทางคมนาคมเพียงทางเดียวคือ ทางเรือ โดยมีคลองแสนแสบเป็นเส้นทางคมนาคมเชื่อมกับคลองผดุงกรุงเกษม

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้เสด็จทอดพระเนตรบริเวณนี้ พระองค์ทรงเห็นว่าบริเวณคลองแสนแสบ ด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นเขตนาหลวง มีบัวพันธุ์ไทย ขึ้นตามหนองบึงอยู่มาก จึงมีพระราชประสงค์จัดทำเป็นสระบัวชานกรุงขึ้นไว้สำหรับเป็นที่ประทับพักผ่อน จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดสระบัวขึ้น แบ่งออกเป็น “สระนอก” ให้ราษฎรทั่วไปได้เล่นแข่งเรือในฤดูน้ำหลาก และ “สระใน” ใช้เป็นที่สำราญพระอิริยาบถส่วนพระองค์ และสร้างพระตำหนักสำหรับเป็นที่ประทับพักผ่อน ได้ทรงนิมนต์พระสงฆ์มารับบิณฑบาตโดยสม่ำเสมอ ต่อมาได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอารามหลวงขึ้น และพระราชทานพระอารามหลวงนั้นว่า “วัดปทุมวนาราม” ซึ่งมีความหมายว่า “ป่าบัว” บริเวณดังกล่าวจึงมีชื่อเรียกว่า “ตำบลปทุมวัน” ซึ่งได้แก่วัดปทุมวนารามและบริเวณใกล้เคียง ส่วนที่ประทับยามเสด็จประภาสสวนสระบัวก็คือ “พระราชตำหนักวังสระปทุม”

ครั้นใน พ.ศ.2457 กรมพระนครบาลได้ประกาศจัดตั้งอำเภอปทุมวันขึ้น โดยในระยะแรกได้ใช้ที่ว่าการอำเภอสามแยก (ซึ่งตั้งอยู่มุมถนนทรงวาด) เป็นที่ทำการ เมื่อ พ.ศ.2459 จึงได้จัดตั้งที่ว่าการอำเภอปทุมวันขึ้น และมีที่ทำการอยู่มุมสี่แยกปทุมวัน เนื่องจากระดับชั้นของความเจริญเติบโตของอำเภอปทุมวันอยู่ในระดับสูง ประชาชนหลั่งไหลอพยพเข้ามาประกอบการค้า และทำมาหากินในท้องที่ปทุมวันมากขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาด้านการจราจร ด้านความเป็นระเบียบเรียบร้อย ประกอบกับอาคารของที่ว่าการอำเภอปทุมวันเดิมนั้นอยู่ในภาพชำรุด ทรุดโทรมและคับแคบ ประชาชนติดต่อราชการไม่สะดวก ในปี พ.ศ.2506 จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาอยู่ในที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ต่อมาเดือนมิถุนายน ปีพ.ศ.2558 ได้ย้ายมาอยู่ยัง สำนักงานเขตปทุมวัน ณ อาคารไทยยานยนตร์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ 12/1-4 ซอยรองเมือง 5 แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

บัว

บัว
ชื่อสามัญ: Water lily
ชื่อวิทยาศาสตร์: Nymphaea nouchali Burm.f.
วงศ์: NYMPHAEACEAE
ชื่อท้องถิ่น: นิโลบล (กรุงเทพฯ), ป้านสังก่อน (เชียงใหม่), ปาลีโป๊ะ (มลายู นราธิวาส), บัวผัน บัวขาบ (ภาคกลาง), บัวแบ้
ลักษณะทั่วไป: บัวเป็นพันธุ์ไม้น้ำมีอายุหลายปี มีเหง้าและไหลอยู่ใต้ดิน และส่งใบดอกขึ้นมาบนผิวน้ำ ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันเป็นกลุ่ม แผ่นใบลอยอยู่บนผิวน้ำ ใบเป็นรูปไข่กว้าง ปลายใบทู่ถึงกลมมน ส่วนโคนเว้าลึก ขอบใบเรียบถึงหยักตื้นๆ ผิวใบเกลี้ยงสีเขียว ท้องใบสีเขียวอ่อนจนถึงสีม่วงจาง ใบมีความกว้างประมาณ 8-18 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร มีเส้นใบราว 10-15 เส้น แยกจากจุดเชื่อมกับก้านใบ ส่วนก้านใบมีความสั้นยาวไม่แน่นอน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความลึกของน้ำเป็นหลัก แต่โดยทั่วไปแล้วจะมีความยาวประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร ดอกเป็นดอกเดี่ยว ขึ้นอยู่เหนือน้ำ มีสีขาวแกมชมพูถึงอ่อนคราม มีกลิ่นหอมอ่อนๆ แต่ละดอกจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8-10 เซนติเมตร มีกลีบดอกซ้อนกัน 2-3 ชั้น มีกลีบดอก 6-18 กลีบ ปลายกลีบแหลม มีเกสรตัวผู้สีเหลืองจำนวนมาก รังไข่มีช่องประมาณ 10-20 ช่อง ฝังตัวแน่นอยู่ใต้แผ่นรองรับ ส่วนเกสรตัวเมียเป็นรูปถ้วย มีก้านดอกคล้ายกับก้านใบและมีความยาวไล่เลี่ยกัน สามารถออกดอกได้เกือบตลอดทั้งปี ดอกจะบานตอนช่วงสายและจะหุบตอนช่วงบ่าย ส่วนผลจะจมอยู่ใต้น้ำหลังจากการผสมเกสรแล้ว
การขยายพันธุ์: โดยการแยกหน่อหรือเหง้า และเพาะเมล็ด พบกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยสามารถพบได้ตามหนองน้ำ บึงคลอง ริมแม่น้ำที่มีกระแสน้ำอ่อน และขอบพรุ ปลูกเลี้ยงดูแลง่าย และมีความทนทานต่อสภาพอากาศได้เป็นอย่างดี
ประโยชน์: ดอกบัวมีดอกที่สวยงาม จึงมีการปลูกไว้เป็นไม้ประดับหรือตัดดอกเพื่อขาย นิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับไว้ในอ่างหรือสระน้ำเพื่อความสวยงาม ก้านดอกสามารถใช้รับประทานเป็นผักได้ หรือใช้จิ้มกินกับน้ำพริก หรือนำไปประกอบอาหาร เช่น ผัดสายบัวกับหมูหรือกุ้ง ต้มสายบัวกับปลาทู เป็นต้น ดอกมีรสฝาดหอมเย็น บำรุงหัวใจให้แช่มชื่น บำรุงกำลัง แก้ไขตัวร้อน แก้ไข้ บำรุงครรภ์ เมล็ดเมื่อฝักแก่ดอกร่วงหมดแล้วเรียกว่า”โตนดบัว” มีเมล็ดเล็กๆ คล้ายเมล็ดฝิ่น คั่วรับประทานเป็นอาหารได้ รสหอมมัน บำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง หัวลักษณะเป็นหัวตะปุ่มตะป่ำ เหมือนโกฐหัวบัว รสหอมมัน เผ็ดเล็กน้อย บำรุงร่างกาย ชูกำลัง บำรุงครรภ์รักษา บำรุงหัวใจ บำรุงธาตุ


ชื่อบางกับพรรณไม้

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง