เขตหนองจอก

เขตหนองจอก

เขตหนองจอกแต่เดิมเป็นป่ารกร้างว่างเปล่าไม่มีผู้คนอาศัย ชื่อหมู่บ้านต่างๆ ก็เรียกกันตามลักษณะภูมิประเทศ ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาเป็นแม่กองจ้างชาวจีนขุดลอกคลองขยายการคมนาคมทางน้ำและเพื่อประโยชน์ทางด้านยุทธศาสตร์ เริ่มตั้งแต่ปลายคลองพระโขนงหรือคลองตันในปัจจุบันไปบรรจบคลองบางขนาก เมื่อขุดเสร็จแล้วเรียกว่า “คลองเจ๊ก” เพราะเป็นคลองที่ชาวจีนขุดขึ้น ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อใหม่เรียกว่า “คลองแสนแสบ” เมื่อขุดคลองเสร็จและหมดภาระศึกสงครามระหว่างไทยกับเขมรแล้ว ทางราชการได้อพยพชาวไทยมุสลิมมาจากบริเวณ 7 หัวเมืองภาคใต้ มาตั้งรกรากทำมาหากินตามบริเวณแนวคลองแสนแสบ และในระยะเวลาใกล้เคียงกันนั้นเอง ก็ได้อพยพชาวลาวที่กวาดต้อนเป็นเชลยให้มาทำกินตามบริเวณคลองแสนแสบเช่นกัน

ต่อมาได้มีการจัดตั้งบริษัทคูสยามขึ้น และได้รับสัมปทานให้ขุดคลองต่างๆ เพื่อประโยชน์แก่การกสิกรรม มีการขุดคลองต่างๆ แล้วเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าจับจองที่ดิน จึงมีผู้อพยพจากที่อื่นเข้าไปอาศัยตามลำคลองสายต่างๆ เพื่อตั้งถิ่นฐานทำมาหากินกระจายอยู่ทั่วไป ต่อมาในรัชกาลที่ 5 ได้จัดการปกครองเป็นหมู่บ้าน ตำบล ตามระเบียบการปกครองสมัยนั้น เมื่อประชาชนมากขึ้นทางราชการได้ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอ

ปี ร.ศ.121 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ยก 4 อำเภอ คือ อำเภอคลองสามวา อำเภอแสนแสบ อำเภอเจียรดับ และอำเภอหนองจอก ขึ้นเป็นเมืองใหม่โดยพระราชทานนามว่าเมืองมีนบุรี

ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2473-2474 มีเหตุการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งมีผลกระทบกระเทือนต่อประเทศไทยด้วย เหตุการณ์ครั้งนี้เรียกว่า “เศรษฐกิจตกต่ำ” ทำให้เกิดข้าวยากหมากแพง และกระทบกระเทือนงบประมาณแผ่นดินของประเทศขณะนั้นอย่างหนัก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้โปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขเหตุการณ์โดยยุบเลิกหรือรวบรวมกองต่างๆ ในส่วนกลาง และยุบมณฑลจังหวัดและสถานที่หรือส่วนราชการบางแห่ง จังหวัดมีนบุรีถูกยุบให้มารวมเข้ากับจังหวัดพระนครขึ้นต่อมณฑลกรุงเทพฯ เว้นไว้แต่ท้องที่อำเภอหนองจอกให้ยกไปขึ้นกับจังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2474

ต่อมาในปี พ.ศ.2475 ได้มีพระราชบัญญัติให้โอนการปกครองอำเภอหนองจอกจากจังหวัดฉะเชิงเทรามาขึ้นกับจังหวัดพระนคร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2475

เมื่อมีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 335 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2515 อำเภอหนองจอกจึงมีฐานะเป็นเขตหนองจอก

ต้นจอก

ต้นจอก

ชื่อสามัญ: Water Lettuce
ชื่อวิทยาศาสตร์: Pistia stratiotes Linnaeus
วงศ์: ARECEAE
ชื่ออื่นๆ: ผักกอก (เชียงใหม่), กากอก (ภาคเหนือ), ไต่ผู้เฟี้ย (จีน-แต้จิ๋ว), ต้าฝูผิง (จีนกลาง), จอกใหญ่
ลักษณะทั่วไป: จอกเป็นวัชพืชน้ำขนาดเล็ก เจริญเติบโตติดกันเป็นกลุ่มลอยอยู่บนผิวน้ำ มีอายุยืนหลายปี ลำต้นทอดขนานไปกับผิวน้ำและมีลักษณะอวบ มีรากแก้วและรากฝอยเป็นกระจุกจำนวนมากอยู่ใต้น้ำ มีความสูงประมาณ 2.5-10 เซนติเมตร ต้นใหม่จะเกิดจากโคนต้นและบนไหล เป็นพืชที่ชอบแสงแดดจัด ชอบน้ำจืด พบได้ตามลำคลอง หนองน้ำ นาข้าว และที่มีน้ำขัง ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียวเรียงสลับซ้อนกันเป็นชั้นๆ มีรูปร่างไม่แน่นอน มีทั้งรูปรี รูปไข่กลับ รูปใบพัด แต่โดยมากเป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายใบมนหยักเป็นลอนคลื่น มีขนปกคลุมแผ่นใบทั้งสองด้าน ฐานใบอ่อนนุ่มคล้ายฟองน้ำ ทำให้สามารถลอยน้ำได้ ใบมีความยาวและความกว้างประมาณ 10-25 เซนติเมตร หลังใบเป็นสีเขียวอ่อน ไม่มีก้านใบ ดอกจอกเป็นดอกช่อมีขนาดเล็กๆ ออกดอกตามซอกใบ ก้านช่อดอกสั้น ยาวประมาณ 1.2-1.5 เซนติเมตร มีกาบห่อหุ้มดอกอยู่ประมาณ 2-3 ใบ เป็นแผ่นสีเขียวอ่อนหุ้มไว้ ด้านในเรียบ ส่วนด้านนอกมีขนละเอียดปกคลุม เป็นดอกที่มีทั้งดอกเพศผู้และดอกเพศเมียในช่อเดียวกันแต่แยกกันอยู่ ซึ่งดอกเพศผู้อยู่ข้างบน ส่วนดอกเพศเมียอยู่ข้างล่าง ไม่มีกลีบดอกและกลีบเลี้ยง ฐานดอกเพศผู้มีรยางค์เป็นแผ่นสีเขียวเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ส่วนดอกเพศเมียมีรยางค์แผ่นสีเขียวติดอยู่ที่เหนือรังไข่ ผลมีลักษณะเป็นแผ่นบางๆ มีกาบสีเขียวอ่อนติดอยู่ เมล็ดมีรูปร่างยาวเรียวมีสีน้ำตาล ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ไหลหรือแยกต้นอ่อนตามใบ
ประโยชน์: ใบมีรสขม เผ็ด และฝาดเล็กน้อย ใช้เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อปอดและกระเพาะปัสสาวะ ใช้เป็นยาฟอกเลือดให้เย็นได้ ช่วยขับความชื้นในร่างกาย ขับพิษไข้ ขับเหงื่อ ใช้เป็นยาขับลม รักษาโรคโกโนเรีย (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือโรคหนองในแท้) แก้โรคผิวหนัง แก้ผดผื่นคัน ฝีหนองภายนอก แก้อาการบอบช้ำ ช่วยขับเสมหะ ช่วยแก้หืด ช่วยแก้อาการบิด รากมีสรรพคุณใช้เป็นยาระบาย เป็นยาขับปัสสาวะ ต้นอ่อนใช้เป็นอาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์ ใช้ทำปุ๋ยหมัก


ชื่อบางกับพรรณไม้

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง