ข่า (Galangal)

ข่า (Galangal)

ข่าเป็นพืชล้มลุกที่มีเหง้าอยู่ใต้ดิน จัดอยู่ในตระกูลเดียวกับขิง ขมิ้น กระชาย กระวาน คนไทยนิยมใช้ข่ามาตั้งแต่ในอดีตโดยนำมาใช้เป็นสมุนไพรและประกอบอาหารต่างๆ ใช้เป็นเครื่องเทศเพื่อช่วยแต่งกลิ่นอาหาร ดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องแกงหรือน้ำพริกต่างๆ ใช้ปรุงรสในอาหารหลากหลายประเภท เช่น ต้มข่า ต้มยำ ต้มแซบ ผัดเผ็ด น้ำซุปก๋วยเตี๋ยว ใช้เป็นเครื่องปรุงในการต้มพะโล้ เป็นต้น นอกจากนี้ดอกและลำต้นอ่อนยังใช้รับประทานเป็นผักสดได้อีกด้วย สรรพคุณทางยาของข่าคือเป็นยาขับลมในลำไส้ แก้บิด ท้องอืด โรคหืด ขับเสมหะ และโรคหลอดลมอักเสบ เหง้าสดตำผสมกับเหล้าโรง ใช้ทารักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากจากเชื้อรา เช่น กลาก เกลื้อน ในข่าประกอบด้วย วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 แคลเซียม เส้นใยอาหาร และฟอสฟอรัส

ข่า (Galangal) พืชเครื่องเทศ
ชื่อสามัญ : Galangal
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Alpinia galanga (L.) Willd.
วงศ์ : ZINGIBERACEAE
ชื่ออื่น : สะเอเชย เสะเออเคย (แม่ฮ่องสอน), ข่าหยวก (ภาคเหนือ), ข่าหลวง (ภาคเหนือ-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), กฎุกกโรหินี (ภาคกลาง)
ถิ่นกำเนิด : ข่ามีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศเขตร้อนในเอเชีย เช่น ศรีลังกา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย และไทย
ลักษณะทั่วไป : ข่าเป็นไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี มีลำต้นเป็นเหง้าอยู่ใต้ดิน สีน้ำตาลอมแสด เลื้อยขนานกับผิวดิน มีข้อปล้องสั้น ก้านใบแผ่เป็นกาบหุ้มซ้อนกัน ดูคล้ายลำต้น แตกกอ สูงประมาณ 1.5-2.5 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอก รูปวงรีหรือเกือบขอบขนาน ปลายใบแหลม ฐานใบสอบแหลม ขอบใบเรียบเป็นคลื่น กว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร ดอกย่อยจำนวนมากเรียงกันแน่น อยู่บนก้านช่อเดียวกัน ดอกย่อยคล้ายดอกกล้วยไม้มีขนาดเล็ก มีใบประดับย่อยเป็นแผ่นรูปไข่ กลีบดอกสีขาวแกมเขียว 3 กลีบ โคนเชื่อมติดกันตลอด ปลายแยกจากกันเป็นปาก แต่ละกลีบเป็นรูปไข่กลับ ที่ปากท่อดอกมีอวัยวะยาวเรียวจากโคนถึงยอด สีม่วงคล้ายตะขอ 1 คู่ ใต้อวัยวะมีต่อมให้กลิ่นหอม เกสรเพศเมียมี 1 อัน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ เกสรเพศผู้มี 3 อัน มี 2 อัน คล้ายกลีบดอก มีเรณู 1 อัน เกสรตัวผู้ที่เป็นหมันแผ่เป็นแผ่นคล้ายกลีบดอกสีขาว มีลายเส้นสีม่วงแดง ผลแห้งแตก รูปกระสวยหรือทรงกลม ขนาด 0.5-1 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยงติดอยู่ เมื่อแก่มีสีส้มแดง มี 1-2 เมล็ด
การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์โดยการแยกเหง้าแก่ที่มีอายุมากกว่า 1 ปี
การปลูก : ข่าสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยที่มีอินทรียวัตถุสูง ดินชุ่มชื้น และไม่มีน้ำท่วมขัง การปลูกนิยมปลูกด้วยการแยกเหง้า โดยปลูกช่วงต้นฝนหรือในฤดูฝน ใส่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมีรองก้นหลุมเล็กน้อยก่อนปลูก รดน้ำ 7-10 วันต่อครั้ง
สรรพคุณ : เหง้าข่าแก่รสเผ็ดร้อน ขม เป็นยาขับลมในลำไส้ แก้ท้องอืด บำรุงธาตุ เป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยย่อยอาหาร แก้บิด แก้ปวดท้องจุกเสียดแน่น กินแก้โรคปวดข้อ ขับเสมหะ แก้ไอ โรคหืด และโรคหลอดลมอักเสบ ใช้ภายนอกทารักษากลากเกลื้อน แก้ไฟลวก แก้น้ำร้อนลวก แก้ลมพิษ และโรคลมป่วง แก้สันนิบาตหน้าเพลิง ตำกับน้ำมะขามเปียกและเกลือให้สตรีกินหลังคลอดเพื่อขับน้ำคาวปลา ขับรก

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง