ตะเคียนทอง

ตะเคียนทอง

ต้นตะเคียนทองเป็นไม้ยืนต้นที่มีขนาดใหญ่หายากมาก นอกจากป่าที่ได้รับการดูแลอย่างดีหรือในป่าที่เข้าถึงยาก พบกระจายพันธุ์ตามป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ใกล้ลำธาร ที่ความสูง 100-800 เมตร จากระดับน้ำทะเล แถบเอเชียเขตร้อน ตะเคียนทองเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดปัตตานี เป็นที่รู้จักในแง่ของเนื้อไม้ที่มีคุณภาพสูง มีความแข็งแรงทนทาน ใช้ก่อสร้างบ้านเรือน เครื่องเรือนต่างๆ และใช้ประโยชน์ในทางยาสมุนไพรรักษาโรคต่างๆ

ชื่อสามัญ : Iron Wood

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hopea odorata Roxb.

วงศ์ : DIPTEROCARPACEAE

ชื่ออื่น : กะกี้ โกกี้ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), แคน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), จะเคียน (ภาคเหนือ), จูเค้ โซเก (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ตะเคียนทอง ตะเคียนใหญ่ (ภาคกลาง), ไพร (ละว้า-เชียงใหม่)

การแพร่กระจาย : พม่า ลาว เวียดนามใต้ (เบียนหัว) เขมร ไทย หมู่เกาะอันดามัน และคาบสมุทรมาเลย์ (ลังกาวี เปอร์ลิส เคตะ เปรัค กะลันต้น และตรังกานู)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

ต้นตะเคียนทองเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ไม่ผลัดใบสูงได้ถึง 45 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มทึบสีเขียวเข้ม กิ่งแผ่กว้าง กิ่งแขนงเรียวเล็กลู่ลง เปลือกหนาสีเทาถึงน้ำตาลดำแตกเป็นสะเก็ด กระพี้สีน้ำตาลอ่อน แก่นสีน้ำตาลอมเหลือง มียางสีเหลือง ใบเป็นใบเดี่ยวออกสลับ รูปขอบขนานแกมรูปไข่ ยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร กว้างประมาณ 3-7 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม มีหาง โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ เนื้อใบค่อนข้างหนา แผ่นใบบิดเป็นลอนเล็กน้อย แผ่นใบเรียบทั้งสองด้าน ก้านใบเรียวเล็ก ยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อยาวตามง่ามใบและปลายกิ่ง มีขนาดเล็กประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร สีขาวอมเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อนๆ แต่ละช่อมีดอกมากถึง 50 ดอก ช่อยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางดอกตูมประมาณ 3 มิลลิเมตร ก้านดอกสั้นมาก กลีบเลี้ยงเล็กมาก 5 กลีบแยกจากกัน กลีบดอก 5 กลีบ ขนาดประมาณ 3-5 มิลลิเมตร ปลายกลีบหยักส่วนล่างบิดและเชื่อมกัน เมื่อร่วงจะหลุดทั้งชั้นรวมทั้งเกสรตัวผู้ติดไปด้วย เกสรตัวผู้มี 15 อัน อับเรณูมียอดแหลม เกสรตัวเมียเรียวเล็ก ความยาวเท่ากับรังไข่ ผลรูปไข่ เปลือกแข็งเรียบ ปลายมนเป็นติ่งแหลมอ่อน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 มิลลิเมตร กลีบรองดอกขยายตัวออกเป็นปีกรูปใบพายยาว 2 ปีก ยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร มีเส้นตามยาว 9-11 เส้น ปีกสั้น 3 ปีก ยาวน้อยกว่า 0.5 เซนติเมตร ปีกซ้อนกันแต่หุ้มส่วนกลางผลไม่มิด เมล็ดค่อนข้างกลมสีน้ำตาล มีเมล็ดหนึ่งเมล็ดต่อผล

ฤดูออกดอก : ต้นตะเคียนทองออกดอกเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน และติดผลเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม

การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์ต้นตะเคียนทองโดยการเพาะเมล็ด โดยเด็ดปีกทั้งสองข้างออกก่อนนำไปเพาะในที่ร่มรำไร เมล็ดจะงอกในเวลาประมาณ 7-10 วัน เมื่อต้นกล้ามีอายุประมาณ 8 เดือน จะมีความสูงประมาณ 35 เซนติเมตร จึงสามารถย้ายปลูกได้

การปลูก : ควรปลูกต้นตะเคียนทองในที่มีอากาศชุ่มชื้น ในดินร่วนปนทรายหรือดินเหนียวปนทราย ช่วงที่ต้นยังไม่โตจะไม่ชอบแสงแดดจัด เมื่อต้นกล้ามีอายุประมาณ 8 เดือน จึงย้ายปลูกในที่กลางแจ้งได้

การใช้ประโยชน์ :

เนื้อไม้ของต้นตะเคียนทองมีความแข็งแรงทนทาน เด้ง และเหนียว ใช้ก่อสร้างบ้านเรือน เครื่องเรือนต่างๆ และสิ่งอื่นๆ ที่ต้องการความแข็งแรง ต้นตะเคียนทองยังมีสรรพคุณทางสมุนไพร เช่น เปลือก เนื้อไม้ มีรสฝาด ใช้ฆ่าเชื้อโรค แก้อักเสบ ห้ามเลือด เปลือก รสฝาดเมา ใช้สมานแผล แก้บิดมูกเลือด แก้เหงือกอักเสบ และฆ่าเชื้อโรคในปาก แก้ลงแดง แก่น มีรสขมหวาน รักษาคุดทะราด ขับเสมหะ แก้โลหิตและกำเดา แก้ไข้สัมประชวร (ไข้ที่เกิดจากหลายสาเหตุ มักแสดงอาการที่ตา เช่น แดง เหลือง หรือขุ่นคล้ำ เป็นต้น) ยาง บดเป็นผงรักษาบาดแผล ชันใช้ผสมน้ำมันยางทาไม้ ทำน้ำมันชักเงา ยาแนวเรือ ดอกใช้ผสมยาเกสรร้อยแปด

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง