นางพญาเสือโคร่ง

นางพญาเสือโคร่ง

นางพญาเสือโคร่งเป็นพรรณไม้ที่มีการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติทางตอนเหนือของประเทศไทย ได้รับฉายาว่า “ซากูระเมืองไทย” เพราะมีดอกสีชมพูสวยงามคล้ายดอกซากูระในประเทศญี่ปุ่น แม้จะเป็นคนละชนิดกันก็ตาม นอกจากดอกนางพญาเสือโคร่งจะมีสีชมพูแล้วยังมีดอกสีขาวและสีแดงอีกด้วย โดยดอกจะออกสวยงามในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมพาพันธ์ ทำให้ในแต่ละปีจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจำนวนมากนิยมเดินทางขึ้นเหนือในช่วงนี้ เพื่อเยี่ยมชมความงามของดอกนางพญาเสือโคร่ง

ชื่อสามัญ : Wild Himalayan Cherry, Sour Cherry

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Prunus cerasoides

วงศ์ : ROSACEAE

ชื่ออื่น : ฉวีวรรณ ชมพูภูพิงค์ (เหนือ), เส่คาแว่ เส่แผ่ แส่ลาแหล (กะเหรี่ยง เชียงใหม่), ซากูระดอย (เชียงใหม่)

การแพร่กระจาย : ต้นนางพญาเสือโคร่งพบทั่วไปบนภูเขาตั้งแต่ความสูง 1,200-2,400 เมตร จากระดับน้ำทะเล พบในประเทศพม่า รัฐชานและรัฐกะชีน ประเทศอินเดียพบบนเทือกเขาหิมาลัยและทางตอนเหนือของอินเดีย ในรัฐอรุณาจัลประเทศไปจนถึงรัฐหิมาจัลประเทศ ประเทศภูฏาน ประเทศเนปาล และประเทศจีนพบในมณฑลยูนนาน และ ตอนเหนือของประเทศไทย เช่น ภูลมโล จังหวัดเลย, ดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย, ดอยเวียงแหง ดอยอ่างขาง ขุนช่างเคี่ยน ขุนแม่ยะ จังหวัดเชียงใหม่, ขุนสถาน ดอยวาว ดอยภูคา ดอยมณีพฤกษ์ จังหวัดน่าน, ภูทับเบิก จังหวัดเพชรบูรณ์, ภูหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

ต้นนางพญาเสือโคร่งเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 10-15 เมตร เปลือกต้นเป็นมัน สีน้ำตาลอมแดง มีรูอากาศขนาดใหญ่ ลอกหลุดเป็นแถบตามขวาง กิ่งก้านแตกออกเป็นแขนงจำนวนมาก ใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะใบเป็นรูปรีแบบไข่หรือไข่กลับ ออกสลับกัน ปลายใบเรียวแหลม โคนใบกลมหรือสอบแคบ ขอบใบจัก ใบกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร ปลายก้านใบมีต่อมสีส้ม 2-4 ต่อม หูใบแตกแขนงคล้ายเขากวาง ใบร่วงง่าย ดอกออกเป็นช่อกระจุกใกล้ปลายกิ่ง ดอกสีขาว สีชมพู หรือสีแดง กลีบดอกมี 5 กลีบ เมื่อดอกบานมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ก้านดอกยาวประมาณ 0.7-2 เซนติเมตร ผลเป็นทรงกลมหรือทรงไข่ ขนาดประมาณ1-1.5 เซนติเมตร ผลสุกมีสีแดงคล้ายเชอร์รี่ มีรสเปรียว ชั้นหุ้มเมล็ดแข็งและย่น

ฤดูออกดอก : ออกดอกช่วงเดือนธันวาคมจนถึงกุมภาพันธ์ โดยจะทิ้งใบก่อนออกดอก

การขยายพันธุ์ : การขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดเป็นวิธีที่นิยมใช้ในการขยายพันธุ์ต้นนางพญาเสือโคร่ง เนื่องจากเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุด โดยนำผลแห้งมาแช่น้ำไว้หนึ่งคืนแล้วนำไปเพาะลงในดินปลูกที่เตรียมไว้ หมั่นรดน้ำ จนกว่าจะงอก เมื่อต้นพันธุ์งอกให้ต้นพันธุ์ถูกแดดได้เพียง 50% เท่านั้น จนกว่าพืชจะแข็งแรง และพร้อมนำลงดินต่อไป

การปลูก : ต้นนางพญาเสือโคร่งเป็นพืชที่ต้องการอากาศเย็น บนพื้นที่สูง และอยู่ใกล้แหล่งต้นน้ำ แต่ไม่ควรปลูกบนพื้นที่ซึ่งมีลมพัดจะทำให้กิ่งก้านหักได้ง่าย หมั่นรดน้ำและใส่ปุ๋ยนานๆ ครั้งก็เพียงพอ

การใช้ประโยชน์ :

ต้นนางพญาเสือโคร่งนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ เนื่องจากมีดอกสวยงาม ผลของต้นนางพญาเสือโคร่งสามารถนำมารับประทานได้ มีรสเปรี้ยว แต่ไม่ได้รับความนิยมมากนักเนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย ส่วนเนื้อไม้และการใช้ประโยชน์ด้านอื่นยังไม่มีการบันทึกข้อมูลไว้

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง