ราชพฤกษ์

ราชพฤกษ์

คำว่า “ราชพฤกษ์” มีความหมายว่า “ต้นไม้ของพระราชา” ดอกสีเหลืองของต้นราชพฤกษ์เป็นสีสัญลักษณ์ของวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช นอกจากนี้ตามตำราไม้มงคล 9 ชนิดยังระบุไว้ว่า ต้นราชพฤกษ์เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นใหญ่ ความมีอำนาจวาสนา มีโชคมีชัย

ในปี พ.ศ.2544 คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติได้มีข้อเสนอให้กำหนดสัญลักษณ์ประจำชาติ 3 สิ่ง ซึ่งประกอบไปด้วย ดอกไม้ สัตว์ และสถาปัตยกรรม ซึ่งจากการพิจารณาได้ข้อสรุปว่า สัตว์ประจำชาติคือ “ช้างไทย” ส่วนด้านสถาปัตยกรรมประจำชาติคือ “ศาลาไทย” และส่วนของดอกไม้ประจำชาติก็คือ “ดอกราชพฤกษ์” โดยมีเหตุผลในการคัดเลือกคือ ต้นคูน หรือ ต้นราชพฤกษ์ เป็นต้นไม้ที่คนไทยทั่วไปรู้จักกันอย่างแพร่หลาย สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในทุกภาคของประเทศ ต้นราชพฤกษ์มีความเกี่ยวข้องกับประเพณีชาวไทยมาอย่างช้านาน เพราะเป็นไม้มงคลนามและใช้ในการประกอบพิธีสำคัญๆ ต่างๆ เช่น พิธีลงเสาหลักเมือง ทำคทาจอมพล ใช้ทำยอดธงชัยเฉลิมพล เป็นต้น

ชื่อสามัญ : Golden shower, Indian laburnum, Pudding-pine tree, Purging Cassia

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cassis fistula Linn.

วงศ์ : LEGUMINOSAE

ชื่ออื่น : กุเพยะ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ปูโย ปีอยู เปอโซ แมะหล่าอยู่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ลักเกลือ ลักเคย (ปัตตานี), ราชพฤกษ์ ชัยพฤกษ์ (ภาคกลาง), ลมแล้ง (ภาคเหนือ), อ้อดิบ (ภาคใต้), คูน (อีสาน)

การแพร่กระจาย : ต้นราชพฤกษ์เป็นพืชพื้นเมืองในแถบเอเชียใต้ ไล่ตั้งแต่ทางตอนใต้ของประเทศปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา และประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พม่า ไทย ลาว และเขมร

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

ต้นราชพฤกษ์เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง สูงประมาณ 12–15 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกลม เปลือกต้นเรียบเกลี้ยง สีขาวปนเทา มีรอยเส้นรอบต้น และรอยปมอยู่บริเวณที่เกิดกิ่ง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวปลายคู่ แกนกลางใบประกอบยาว 30-40 เซนติเมตร มีใบย่อยเป็นคู่ออกเรียงตรงข้าม มีประมาณ 4–8 คู่ ใบรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมนและสอบไปทางปลายใบ ขอบใบเรียบ เป็นคลื่นเล็กน้อย เนื้อใบบางเกลี้ยง ใบสีเขียวเป็นมัน มีเส้นแขนงใบถี่และโค้งไปตามรูปใบ ใบกว้างประมาณ 4-8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 7-12 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบหรือปลายยอด 1-3 ช่อ ห้อยลงเป็นโคมระย้ายาวประมาณ 20-45 เซนติเมตร ดอกย่อยจำนวนมาก สีเหลืองสด ดอกบานขนาดกว้างประมาณ 3 เซนติเมตร เวลาออกดอกใบจะร่วง มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่แกมรูปรี ผิวด้านนอกมีขน กลีบดอกสีเหลือง 5 กลีบ รูปไข่ ปลายมน เกสรตัวผู้ 10 อัน สั้น 7 อันและยาว 3 อัน มีก้านอับเรณูโค้งงอขึ้น อับเรณูมีขนาดเล็ก ก้านเกสรตัวเมีย และรังไข่มีขนยาวคล้ายไหม ผลเป็นฝักยาว ลักษณะเป็นแท่งกลมทรงกระบอก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 20-60 เซนติเมตร ผิวเรียบเกลี้ยง เปลือกฝักแข็งกรอบ ฝักอ่อนสีเขียว ฝักแก่สีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ฝักแก่ไม่แตก แต่จะหลุดร่วงทั้งฝักและหักแตกเป็นชิ้น ภายในฝักมีผนังเยื่อบางๆ กั้นเป็นช่องๆ ตามขวางของฝัก แต่ละช่องมีเมล็ด 1 เมล็ด แต่ละฝักมีเมล็ด 50-70 เมล็ด เมล็ดแบนรี สีน้ำตาล ขนาดประมาณ 0.8-0.9 เซนติเมตร มีเนื้อเหนียวเปียกสีดำหุ้ม มีรสหวาน

ฤดูออกดอก : ต้นราชพฤกษ์ออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม และติดผลราวเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม

การขยายพันธุ์ : ต้นราชพฤกษ์ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด

การปลูก : ต้นราชพฤกษ์สามารถปลูกได้ทั้งดินร่วนซุย ดินร่วนปนทราย ดินร่วนเหนียว เป็นพืชที่ต้องการแสงแดดจัด เจริญเติบโตได้ดีในที่โล่งแจ้ง ต้องการน้ำน้อย ทนต่อความแห้งแล้งและดินเค็มได้ดี แต่ไม่ทนในอากาศหนาวจัด

การใช้ประโยชน์ :

ต้นราชพฤกษ์เป็นต้นไม้ที่มีอายุยืนนานและแข็งแรงทนทาน มีทรงพุ่มที่งดงาม ช่วงฤดูออกดอกจะมีดอกเหลืองอร่ามเต็มต้น ดูสวยงาม จึงนิยมปลูกต้นราชพฤกษ์เป็นไม้ที่ให้ร่มเงาและเป็นไม้ประดับ สำหรับสรรพคุณทางสมุนไพรของต้นราชพฤกษ์ในการรักษาโรคและอาการต่างๆ เช่น เมล็ดมีรสฝาดเมาช่วยแก้ท้องร่วง รักษาโรคบิด รากช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับหัวใจ ถุงน้ำดี แก้โรคคุดทะราด แก้ไข้ ใช้ทารักษากลากเกลื้อน เปลือกต้นช่วยสมานบาดแผล ช่วยบำรุงโลหิต กระพี้และแก่นใช้แก้อาการปวดฟัน แก้โรครำมะนาด ฝักอ่อนมีรสหวานอมเปรี้ยวใช้ขับเสมหะ ฝักแก่ใช้เป็นยาระบาย ช่วยในการขับถ่าย แก้อาการท้องผูก เนื้อในฝักช่วยบรรเทาอาการแน่นหน้าอก ช่วยแก้อาการปวดข้อ ดอกช่วยหล่อลื่นลำไส้ รักษาโรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร ช่วยรักษาแผลเรื้อรัง เปลือกและใบนำมาบดผสมกันใช้ทาแก้ผดผื่น ช่วยแก้ฝี แก้บวม เปลือกเมล็ดและเปลือกฝักมีสรรพคุณช่วยถอนพิษ ทำให้อาเจียน ใบนำมาใช้ในการฆ่าเชื้อโรค เชื้อโรคบนผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราได้ ใบอ่อนต้มกับน้ำดื่มช่วยแก้ไข้รูมาติก ฝักมีสรรพคุณทางยาช่วยแก้ไข้มาลาเรีย แก้อาการกระหายน้ำ แก้อาการจุกเสียด

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง