สะเดาเทียม

สะเดาเทียม

ต้นสะเดาเทียมเป็นต้นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดสงขลา ต้นสะเดาเทียมพบมากทางภาคใต้ของประเทศไทย เป็นไม้เศรษฐกิจที่โตเร็ว มีเนื้อไม้สีน้ำตาลสวยงาม มีความแข็งแรง ทนทาน ปลวกไม่ค่อยทำลาย สามารถนำมาแปรรูปทำเป็นสิ่งของเครื่องใช้ ทำเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ นอกจากนี้ส่วนของต้นสะเดาเทียมยังมีสรรพคุณทางสมุนไพรใช้รักษาอาการต่างๆ เช่น ใช้เป็นยาระบาย แก้โรคท้องผูก แก้โรคริดสีดวง บำรุงธาตุ ฆ่าพยาธิ ใช้เป็นยาขับเสมหะ แก้ท้องร่วง โรคบิดมูกเลือด แก้โรคลมพิษ บำรุงธาตุไฟ ใช้แก้โรคผิวหนัง โรคน้ำเหลืองเสีย เป็นต้น

ชื่อสามัญ : Shorea, White meranti

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Azadirachta excelsa (Jack) Jacobs

วงศ์ : MELIACEAE

ชื่ออื่น : ต้นเทียม ไม้เทียม สะเดาช้าง สะเดาเทียม สะเดาใบใหญ่ (ภาคใต้)

การแพร่กระจาย : ต้นสะเดาเทียมพบได้ในภาคใต้ของประเทศไทย มีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่จังหวัดชุมพรและสุราษฎร์ธานีลงไป โดยพบมากที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ตรัง สงขลา และพัทลุง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

ต้นสะเดาเทียมเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดใหญ่ โตเร็ว ลำต้นเปลาตรง สูงประมาณ 30-40 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมหรือรูปกรวยคว่ำ ค่อนข้างโปร่ง มีกิ่งก้านน้อย เปลือกต้นสีน้ำตาลอมแดงหรือเทา เมื่ออายุยังน้อยเปลือกจะเรียบ เมื่ออายุมากขึ้นเปลือกจะแตกล่อนเป็นแผ่น เนื้อไม้สีเหลืองหรือน้ำตาลอ่อน ใบเป็นประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงเวียนสลับ แกนกลางใบประกอบยาวประมาณ 20-60 เซนติเมตรใบย่อย 7-12 คู่ เรียงสลับหรือเยื้องกันเล็กน้อย ใบย่อยรูปไข่แกมรูปใบหอก กว้างประมาณ 3-4.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 7-15 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเบี้ยวไม่เท่ากัน ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียว และย่นเป็นลอน สีเขียวเข้มเป็นมัน ใบอ่อนสีน้ำตาลแดง ดอกออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อดอกตั้งยาว 10-15 เซนติเมตร ดอกสีขาวอมเขียว มีกลิ่นหอม มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน มีกลีบดอก 5 กลีบ ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร กว้างประมาณ 1.5-2.2 มิลลิเมตร กลีบรูปช้อน ปลายมนและโค้งไปข้างหลังติดอยู่กับหลอดเกสรตัวผู้ โดยโคนกลีบเชื่อมติดกัน เกสรตัวผู้ 8-10 อัน เชื่อมติดกันเป็นหลอด เส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ 1 -1.2 เซนติเมตร ผลเป็นผลสดแบบมีเนื้อเมล็ดเดียว รูปทรงกลมรีหรือรูปไข่ กว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียวเป็นมัน เมื่อแก่จะเป็นสีเหลือง เปลือกนอกค่อนข้างหนา เนื้อผลนุ่มฉ่ำน้ำ สีขาวขุ่น สามารถรับประทานได้ ภายในมีเมล็ดรูปกลมรี เปลือกหุ้มเมล็ดแข็ง สีน้ำตาลอ่อน

ฤดูออกดอก : ต้นสะเดาเทียมออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม ผลแก่ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน

การขยายพันธุ์ : ต้นสะเดาเทียมขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด เมล็ดที่ได้ควรรีบนำมาเพาะทันที เนื่องจากเมล็ดสะเดาเทียมไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน โดยอัตราการงอกจะลดลงอย่างรวดเร็วภายใน 2-3 สัปดาห์หลังจากเก็บ

การปลูก : ต้นสะเดาเทียมเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำและอากาศได้ดี มีแร่ธาตุอาหารอุดมสมบูรณ์ ควรปลูกให้ได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน

การใช้ประโยชน์ :

ต้นสะเดาเทียมเป็นไม้โตเร็ว มีเนื้อไม้คุณภาพดี ปลวกและมอดไม่ค่อยทำลาย สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เกือบทุกส่วน ใช้ทำเครื่องเรือนเครื่องเรือน ทำเฟอร์นิเจอร์ บานหน้าต่าง วงกบ และไม้แกะสลักได้ดี ดอกอ่อนและผลของต้นสะเดาเทียมนำมารับประทานได้ มีสรรพคุณเป็นยาระบาย แก้โรคท้องผูก แก้โรคริดสีดวง บำรุงธาตุ ฆ่าพยาธิ และเป็นยาบำรุงอาหาร รากมีรสฝาดขมใช้เป็นยาขับเสมหะ เปลือกของลำต้นใช้เป็นยาเจริญอาหาร แก้ไข้ แก้ท้องร่วง โรคบิดมูกเลือด และยาแก้โรคกษัย แก่นไม้ใช้เป็นยาแก้ไข้จับสั่น คลื่นไส้อาเจียน แก้โรคลมพิษ บำรุงธาตุไฟ ใบมีรสฝาดขมใช้เป็นยาขับน้ำย่อยอาหาร บำรุงโลหิต แก้โรคพยาธิ ใบอ่อนนำมาใช้แก้โรคผิวหนัง โรคน้ำเหลืองเสีย ยางสะเดาเทียม ช่วยดับพิษไข้ ถอนพิษไข้หรือดับพิษร้อน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง