ชิงชัน

ชิงชัน

ต้นชิงชันเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดหนองคาย จัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่หายากราคาแพง มีเนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อนอมเหลือง มีเส้นแทรกสีดำ เนื้อละเอียดปานกลาง แข็งและเหนียวมาก เลื่อยผ่าตกแต่งยาก แต่ขัดชักเงาได้ดีมาก ใช้ทำเครื่องเรือน ด้ามเครื่องมือ เครื่องใช้ต่าง ๆ ได้สวยงามและทนทาน ต้นชิงชันยังมีสรรพคุณทางสมุนไพรอีกด้วย

ชื่อสามัญ : Rosewood

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dalbergia oliveri Gamble

วงศ์ : PAPILIONOIDEAE

ชื่ออื่น : ประดู่ชิงชัน (ภาคกลาง), กระซิบ ประดู่สับ (สุราษฎร์ธานี), เก็ด เก็ดดำ เก็ดแดง (เชียงใหม่), กำพี้ต้น พะยูงหิน (เพชรบูรณ์), ดู่ลาย (ลำปาง), ดู่สะแดน (ภาคเหนือ), พะยูงแกลบ (สระบุรี), พะยูงแดง (พิษณุโลก), ยูน (จันทบุรี), หมากพลูตั๊กแตน (ภาคใต้)

การแพร่กระจาย : ต้นชิงชันพบทั่วไปในประเทศพม่า ลาว และไทย กระจายทั่วไปในป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรังที่มีสภาพแห้งแล้งเป็นดินลูกรัง ประเทศไทยพบขึ้นอยู่ทุกภาค ยกเว้นภาคใต้

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

ต้นชิงชันเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 15–25 เมตร เปลือกสีน้ำตาลอมเทา กะเทาะล่อนเป็นแว่นหรือเป็นแผ่นขนาดเล็ก เนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อนอมเหลือง มีเส้นแทรกสีดำ เนื้อละเอียดปานกลาง แข็งและเหนียวมาก ยอดและใบอ่อนออกสีแดง เกลี้ยงหรือมีขนเพียงเบาบาง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกเรียงสลับ มีใบประกอบย่อย 11-17 ใบ ใบมีลักษณะยาวรี รูปขอบขนานแกมรูปหอก ปลายใบมนทู่และหยักเว้าเล็กน้อย โคนใบมนกลม ท้องใบจะมีสีจางกว่าหลังใบ ใบกว้างประมาณ 1-4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4-8 เซนติเมตร ขอบใบเรียบ ผิวใบเรียบ เป็นมันวาว ด้านบนของใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนใต้ใบจะมีสีเขียวที่ซีดกว่า ดอกออกเป็นช่อแบบช่อเชิงประกอบ ออกตามปลายกิ่ง ดอกมีขนาดเล็กสีขาวอมม่วง และจะออกมาพร้อมกับการผลิตใบใหม่ เกสรตัวผู้แยกออกเป็น 2 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมี 5 อัน ผลเป็นฝักแบน แผ่เป็นปีกยาว ลักษณะเป็นรูปรีหรือรูปขอบขนาน มีความกว้างประมาณ 3-3.5 เซนติเมตร และความยาวประมาณ 8-17 เซนติเมตร ผิวของฝักเรียบ ส่วนที่หุ้มเมล็ดมีความหนาและแข็ง มีลักษณะเป็นกระเปาะกลมหรือแกมรีเล็กน้อย ภายในฝักส่วนมากจะมีเมล็ดเพียงเมล็ดเดียว มีลักษณะคล้ายกับรูปไตสีน้ำตาล ขนาดกว้างประมาณ 0.6 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร

ฤดูออกดอก : ต้นชิงชันออกดอกช่วงเดือนมีนาคมไปจนถึงเดือนพฤษภาคม และจะเป็นฝักช่วงเดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนกันยายน

การขยายพันธุ์ : การขยายพันธุ์ต้นชิงชันนิยมขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด วิธีการคือให้นำเมล็ดมาแช่ในน้ำร้อนที่มีอุณหภูมิประมาณ 60-70 องศาเซลเซียส แล้วแช่ไว้จนน้ำเย็นลงไปเอง และแช่ไว้อย่างนั้นประมาณ 6-7 ชั่วโมง จึงนำเมล็ดไปเพาะ

การปลูก : ต้นชิงชันเป็นไม้ที่ทนต่อหลายสภาพแวดล้อม ปลูกขึ้นได้ในดินทุกสภาพ ชอบแสงแดดจัด จึงควรปลูกไว้ที่กลางแจ้ง ในพื้นที่ได้รับแสงแดดมากๆ หรือพื้นที่ได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน ต้องการน้ำในปริมาณปานกลาง ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ผสมปุ๋ยเคมีได้ทุกชนิด หากต้องการเร่งส่วนใดส่วนหนึ่งก็สามารถใส่ปุ๋ยสูตรอื่นๆ ได้

การใช้ประโยชน์ :

ต้นชิงชันมีเนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อนอมเหลือง มีเส้นแทรกสีดำ เนื้อละเอียดปานกลาง แข็งและเหนียวมาก เลื่อยผ่าตกแต่งยาก แต่ขัดชักเงาได้ดีมาก จึงนิยมนำต้นชิงชันมาแปรรูปทำเครื่องดนตรี เครื่องเรือน เครื่องใช้ต่างๆ เช่น กลอง ตะโพน คันไถ ด้ามปืน ด้ามมีด และเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ต้นชิงชันยังมีสรรพคุณทางสมุนไพร แก่นของต้นชิงชันมีรสฝาดร้อน มีสรรพคุณช่วยในการบำรุงโลหิตในผู้หญิงได้ดี เปลือกต้นสามารถนำมาต้มแล้วนำมาชะล้างหรือสมานบาดแผล รวมไปถึงช่วยรักษาแผลเรื้องรังอีกด้วย

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง