รัง

รัง

ต้นรังเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดต้นไม้ประจำจังหวัดอุดรธานี เป็นพันธุ์ไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เพราะไม้รังเป็นไม้เนื้อแข็งที่มีความแข็งแรงทนทาน มีการนำเนื้อไม้มาใช้ประโยชน์ในงานการก่อสร้างบ้านเรือน เช่น คาน เสา รอด ตง พื้น พื้นชานเรือนที่อยู่กลางแจ้ง สะพาน ไม้หมอนรถไฟ เรือ ส่วนประกอบของยานพาหนะ เครื่องมือกสิกรรมต่างๆ และยังมีสรรพคุณทางสมุนไพร ใช้เป็นยาแก้อาการวิงเวียนศีรษะ แก้โรคท้องร่วง และใช้รักษาแผลพุพอง

ชื่อสามัญ : Burmese sal, Ingyin

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Shorea siamensis Miq.

วงศ์ : DIPTEROCARPACEAE

ชื่ออื่น : เปา เปาดอกแดง (ภาคเหนือ), รัง (ภาคกลาง), เรียง เรียงพนม (เขมร-สุรินทร์), ลักป้าว (ละว้า-เชียงใหม่), แลบอง เหล้ท้อ เหล่บอง (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ฮัง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)

การแพร่กระจาย : ต้นรังมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย พม่า ลาว เขมร และเวียดนาม ในประเทศไทยพบได้ทุกภาคของประเทศยกเว้นในภาคใต้ โดยมักขึ้นตามป่าเต็งรัง ตามเขาหินปูน ตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลจนถึงที่ความสูงประมาณ 1,300 เมตร

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

ต้นรังจัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 10–25 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มโปร่ง กิ่งก้านมักคดงอ เปลือกต้นสีน้ำตาลอมเทา มีความแข็งและหนามาก แตกเป็นร่องลึกตามยาวของลำต้น เปลือกต้นด้านในเป็นสีแดงออกน้ำตาล มีน้ำยางสีเหลืองอ่อนถึงสีน้ำตาล ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กว้าง ปลายใบกลมหรือแหลมเล็กน้อย โคนใบหยักเว้าเป็นรูปหัวใจ ขอบใบเรียบ ขอบเป็นคลื่นขึ้นลง ใบอ่อนสีน้ำตาลออกแดงมีขนรูปดาว ใบแก่สีเขียวหม่นเกือบจะเรียบเกลี้ยง ใบมีขนาดกว้างประมาณ 10-12.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-18 เซนติเมตร ดอกสีเหลืองมีกลิ่นหอมอ่อน มักจะออกก่อนแตกใบอ่อน ออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง ช่อยาวได้ถึง 15 เซนติเมตร ช่อละประมาณ 5-20 ดอก ดอกตูมมีลักษณะเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่แกมรูปใบหอกกว้าง ขนาดกว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร ปลายกลีบเลี้ยงเรียวแหลม โคนเชื่อมติดกัน ผิวด้านนอกมีขน กลีบดอกมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปรีกว้าง ปลายกลีบแหลม ฐานกลีบเชื่อมกัน ปลายบิดเป็นเกลียวคล้ายกังหัน กลีบดอกมีขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ผิวด้านนอกเกลี้ยงหรือมีขนขึ้นประปราย เป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ มีเกสรตัวผู้ 15 อัน แบ่งเป็นชั้นใน 5 อัน และชั้นนอก 10 อัน ก้านชูอับเรณูเป็นรูปแถบกว้าง อับเรณูเป็นรูปแถบ ที่ปลายมีรยางค์แหลม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่เกลี้ยง มีอยู่ 3 ช่อง ในแต่ละช่องจะมีออวุล 2 เม็ด ส่วนก้านเกสรตัวเมียเป็นรูปเส้นด้าย ยอดเกสรเพศเมียเป็นพู 3 พู ผลเป็นผลแข็ง มีลักษณะเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร มีปีกที่พัฒนามาจากกลีบเลี้ยง 5 ปีก แบ่งเป็นปีกยาว 3 ปีก ปลายป้านเป็นรูปใบพาย ขนาดยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และปีกสั้นอีก 2 ปีก ยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด

ฤดูออกดอก : ออกดอกและเป็นผลในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน ออกดอกหลังจากใบร่วงแล้วพร้อมจะแตกใบใหม่

การขยายพันธุ์ : การขยายพันธุ์ต้นรังนิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด โดยนำเมล็ดแก่มาเด็ดปีกออกก่อนนำเมล็ดไปเพาะ

การปลูก : ต้นรังเป็นไม้กลางแจ้งที่ต้องการแดดจัด สภาพดินที่เหมาะสมในการปลูกต้นรังคือดินร่วนปนกรวดและดินทราย ต้นรังต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง

การใช้ประโยชน์ :

ประโยชน์ของต้นรังคือการนำไม้มาใช้ในงานการก่อสร้างบ้านเรือน เพราะไม้รังเป็นไม้เนื้อแข็งที่มีความแข็งแรงทนทาน สามารถรับน้ำหนักมากๆ ได้เป็นอย่างดี เหมาะสำหรับการนำไปใช้ในการก่อสร้างที่ต้องการความแข็งแรงทนทานมากเป็นพิเศษ เช่น คาน เสา รอด ตง พื้น พื้นชานเรือนที่อยู่กลางแจ้ง สะพาน ไม้หมอนรถไฟ เรือ ส่วนประกอบของยานพาหนะ เครื่องมือกสิกรรมต่างๆ ชันยางจากต้นรังใช้ผสมกับน้ำมันทาไม้หรือน้ำมันยาง ใช้สำหรับยาแนวเรือ ภาชนะที่ทำจากไม้ไผ่ หรือเครื่องจักสานต่างๆ สรรพคุณทางสมุนไพรของรัง ชาวไทใหญ่ทางภาคเหนือของไทยใช้ใบรังนำมาต้มกับน้ำอาบเป็นยาแก้อาการวิงเวียนศีรษะ ตำรายาพื้นบ้านอีสานใช้เปลือกเป็นแก้โรคท้องร่วง และใช้ใบนำมาตำพอกรักษาแผลพุพอง

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง