เคี่ยม

เคี่ยม

ต้นเคี่ยมเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี พบขึ้นทั่วไปตามป่าดงดิบทางภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป ต้นเคี่ยมมีอยู่ 2 ชนิด คือเคี่ยมขาวและเคี่ยมดำ ซึ่งเคี่ยมดำเปลือกต้นหนาและเข้มกว่าเปลือกต้นเคี่ยมขาว เนื้อไม้ของต้นเคี่ยมมีความละเอียด แข็ง หนัก และเหนียว มีความทนทานสูงมาก เหมาะกับการใช้ในน้ำ เช่น การใช้ทำเป็นเรือ หรือใช้ในงานก่อสร้างที่ต้องการความแข็งแรงมากๆ รวมถึงสิ่งปลูกสร้างและเครื่องใช้ต่างๆ ที่ต้องตากแดดตากฝน ประโยชน์ของต้นเคี่ยมทางด้านสมุนไพร เช่น ช่วยแก้อาการท้องร่วง ใช้เป็นยาสมานแผล ทำยาห้ามเลือด ยาล้างแผล รักษาแผล แก้อาการฟกบวม เน่าเปื่อย

ชื่อสามัญ : Resak tembaga

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cotylelobium melanoxylon Pierre

วงศ์ : DIPTEROCARPACEAE

ชื่ออื่น : เคี่ยม (ทั่วไป), เคี่ยมขาว เคี่ยมดำ เคี่ยมแดง (ภาคใต้)

การแพร่กระจาย : ต้นเคี่ยมสามารถพบขึ้นได้ทั่วไปตามป่าดงดิบทางภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป และทางภาคใต้ของพม่าลงไปจนถึงภาคเหนือของประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 10-100 เมตร ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีต้นเคี่ยมอยู่ 2 ชนิด คือ เคี่ยมขาวและเคี่ยมดำ ซึ่งเคี่ยมดำมีเปลือกต้นหนาและเข้มกว่าเปลือกต้นของเคี่ยมขาว

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

ต้นเคี่ยมเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่สูง 20–40 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มทึบทรงเจดีย์ต่ำๆ ลำต้นตรง เปลือกเรียบสีน้ำตาลเข้ม มีรอยด่างสีเทาและเหลืองสลับ มีต่อมระบายอากาศกระจายทั่วไป ตามยอดอ่อนและช่อดอกมีขนสีน้ำตาลปกคลุม ใบเป็นใบเดี่ยว มีลักษณะใบเป็นรูปไข่ ปลายใบสอบเรียวหรือหยักเป็นติ่งยาว โคนใบมน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-18 เซนติเมตร แผ่นใบหนา หลังใบเรียบเป็นมัน ท้องใบมีขนสีน้ำตาลปนสีเหลืองเป็นกระจุก ดอกออกเป็นช่อแบบช่อแขนง ออกรวมกันเป็นช่อสั้นๆ มีดอกประมาณ 5-15 ดอก ออกตามปลายกิ่งและง่ามใบ ดอกสีขาวมีกลิ่นหอมอ่อนๆ กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ซึ่ง 2 กลีบจะใหญ่ และปลายมนกว่าอีก 3 กลีบ กลีบดอกมี 5 กลีบ สีขาวปนเหลือง ปลายหลอดห่อรังไข่มี 3 แฉก มีก้านเกสรตัวผู้ 15 อัน อับเรณูสี่ห้อง รังไข่กลมมีขนสากๆ ผลเป็นผลแห้งทรงกลมขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.7 เซนติเมตร ปลายผลเป็นติ่งแหลม ผลสีน้ำตาลมีขนนุ่มคล้ายขนกำมะหยี่ปกคลุม มีปีก 5 ปีก แบ่งเป็นปีกยาว 2 ปีก ปลายปีกมนเรียวสอบมาทางโคน มีเส้นตามยาว 5 เส้น และปีกสั้นอีก 3 ปีก ลักษณะเป็นรูปหอก ยาวประมาณ 1 ใน 3 รองรับผลอยู่

ฤดูออกดอก : ต้นเคี่ยมออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน และติดผลช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม

การขยายพันธุ์ : ต้นเคี่ยมสามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีการตอนกิ่งและวิธีการเพาะเมล็ด โดยการเพาะเมล็ดให้เด็ดปีกออกก่อนการนำไปเพาะ

การปลูก : ต้นเคี่ยมเจริญเติบโตได้ในดินทุกชนิด ชอบดินร่วนและดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำได้ดี ชอบความชื้นสูงและแสงแดดปานกลาง

การใช้ประโยชน์ :

ต้นเคี่ยมมีเนื้อไม้ที่มีความละเอียด แข็ง หนัก และเหนียว มีความทนทานสูงมาก เหมาะกับการใช้ในน้ำ เช่น การใช้ทำเป็นเรือ หรือใช้ในงานก่อสร้างที่ต้องการความแข็งแรงมากๆ เช่น ใช้ทำไม้พื้น ไม้กระดาน เสาเรือน รอดตง อกไก่ สิ่งปลูกสร้างและเครื่องใช้ต่างๆ ที่ต้องตากแดดตากฝน เปลือกต้นใช้ทุบผสมกับชันใช้สำหรับยาเรือ ชันเคี่ยมใช้ผสมในน้ำมันทาไม้ และน้ำมันชักเงา เปลือกไม้เคี่ยมนำมาตัดเป็นชิ้นขนาดประมาณ 1×2 นิ้ว ใส่ในกระบอกตาลรองรับน้ำตาลจากต้นตาล เพื่อให้รสฝาดของไม้เคี่ยมช่วยรักษาน้ำตาลไม่ให้บูดเร็ว และใช้ใส่ในน้ำตาลเมาเพื่อให้มีรสกลมกล่อม ชันจากไม้เคี่ยมช่วยแก้อาการท้องร่วง ใช้เป็นยาสมานแผล เปลือกต้นใช้ทำยาห้ามเลือด ใช้ทำยาล้างแผล ยอด ราก ดอก และลำต้นใช้ตำพอกรักษาแผล แก้อาการฟกบวม เน่าเปื่อย ใช้ผสมกับเปลือกหว้าต้มเป็นยาบ้วนปาก ช่วยแก้อาการปากเปื่อย

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง