เต็ง

เต็ง

ต้นเต็งเป็นอีกหนึ่งพันธุ์ไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ใช้ประโยชน์ด้วยการใช้เนื้อไม้ในเชิงอุตสาหกรรมป่าไม้ เพราะต้นเต็งมีเนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อน สีสันสวยงามและมีความแข็งแรงทนทาน จึงนิยมนำมาใช้ในงานก่อสร้าง ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์หรือแปรรูปเป็นสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ชันยางที่ได้จากต้นเต็ง สามารถใช้ผสมน้ำมัน ทาไม้ หรือใช้ยาแนวเรือ ตลอดจนใช้ยาแนวเครื่องใช้ต่างๆ ได้ สรรพคุณของต้นเต็ง นำเอาเนื้อไม้หรือเปลือกต้นมาฝนกับน้ำปูนใส ทาบริเวณที่เป็นแผล เป็นยาสมานแผล ห้ามเลือด รักษาแผลเรื้อรัง แผลพุพองให้สมานตัวเร็ว และแก้น้ำเหลืองเสีย

ชื่อสามัญ : Burma Sal, Siamese Sal, Thitya

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Shorea obtusa Wall. ex Blume

วงศ์ : DIPTEROCARPACEAE

ชื่ออื่น : เน่าใน (แม่ฮ่องสอน), เต็งขาว (ขอนแก่น), ชันตก (ตราด), แงะ (ภาคเหนือ), จิก (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), เคาะเจื้อ (ละว้า เชียงใหม่), ล่าไน้ (กะเหรี่ยง), แลเน่ย (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน), เหล่ไน้ (กะเหรี่ยง ภาคเหนือ), อองเลียงยง (กะเหรี่ยง กาญจนบุรี), ตะเลซิเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), ประจั๊ด (เขมร บุรีรัมย์), ประเจิ๊ก (เขมร สุรินทร์), พะเจ๊ก (เขมร พระตะบอง)

การแพร่กระจาย : ต้นเต็งพบกระจายพันธุ์ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม ในประเทศไทยพบกระจายพันธุ์เป็นกลุ่มใหญ่ในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ดินลูกรัง และเขาหินทรายทั่วทุกภาคของประเทศ ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 150-1,300 เมตร

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

ต้นเต็งเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ความสูงประมาณ 10-30 เมตร ลำต้นเปลาตรงหรือคดงอไม่ค่อยตรง เรือนยอดเป็นพุ่มกว้าง เปลือกต้นสีน้ำตาลเทา เปลือกมีรอยแตกลึกและเป็นสะเก็ดหนา มีชันสีเหลืองขุ่น เปลือกต้นด้านในสีน้ำตาลแกมเหลือง กะพี้เป็นสีน้ำตาลอ่อน และแก่นเป็นสีเข้ม ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะใบเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนานถึงรูปไข่กลับ ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบทู่หรือมนเป็นรูปหัวใจ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-16 เซนติเมตร เนื้อใบหนา สีเขียวอมเหลือง ใบอ่อนมีขนสีเทาขึ้นประปราย ส่วนใบแก่เกลี้ยง ก้านใบสั้นและอ้วน ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ใบแก่ก่อนร่วงจะเป็นสีเหลือง ส้ม หรือแดง ดอกออกเป็นช่อแยกแขนงตามปลายกิ่งหรือตามง่ามใบ ช่อดอกห้อยลงยาวประมาณ 6-12 เซนติเมตร ดอกมีขนาดเล็กประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ก้านดอกสั้นมาก มีกลีบดอกและกลีบเลี้ยงอย่างละ 5 กลีบ กลีบดอกสีขาวนวลมีกลิ่นหอม โคนกลีบดอกซ้อนทับกัน ปลายกลีบแยกกันและจีบเวียนตามกันเป็นกังหัน ส่วนกลีบเลี้ยงที่โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกออกเป็น 5 แฉก มีเกสรตัวผู้ขนาดเล็กจำนวนมากประมาณ 22-29 อัน เรียงเป็น 3 วง อยู่รอบเกสรตัวเมีย ปลายอับเรณูมีขนสั้นๆ ยอดเกสรตัวเมียเป็นพู 3 พู ผลเป็นผลแข็ง มีลักษณะเป็นรูปกลมรีถึงรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 0.8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1 เซนติเมตร มีปีกสั้น 2 ปีก ยาวประมาณ 3-4.5 เซนติเมตร และปีกยาวอีก 3 ปีก ลักษณะเป็นรูปหอกกลับ ขนาดกว้างประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด

ฤดูออกดอก : ออกดอกในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม ผลจะแก่ช่วงประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม

การขยายพันธุ์ : การขยายพันธุ์ต้นเต็งสามารถทำได้ด้วยวิธีการปักชำกิ่ง ตอนกิ่ง และการเพาะเมล็ด แต่จะนิยมใช้วิธีการเพาะเมล็ดเนื่องจากเป็นวิธีที่ง่าย โดยนำเมล็ดแก่มาเด็ดปีกออกให้เหลือแค่เมล็ด แล้วจึงนำเมล็ดไปเพาะ

การปลูก : ต้นเต็งเป็นต้นไม้ที่ทนทานต่อสภาพอากาศได้ดี สามารถเจริญเติบโตขึ้นได้ในดินทุกสภาพ ไม่ว่าจะเป็นดินลูกรัง หรือดินที่มีความแห้งแล้ง

การใช้ประโยชน์ :

ต้นเต็งมีเนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อน สีสันสวยงามและมีความแข็งแรงทนทาน จึงนิยมนำมาใช้ในงานก่อสร้าง ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์หรือแปรรูปเป็นสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ชันยางที่ได้จากต้นเต็ง สามารถใช้ผสมน้ำมัน ทาไม้ หรือใช้ยาแนวเรือ ตลอดจนใช้ยาแนวเครื่องใช้ต่างๆ ได้ สรรพคุณของต้นเต็ง นำเอาเนื้อไม้หรือเปลือกต้นมาฝนกับน้ำปูนใส ทาบริเวณที่เป็นแผล เป็นยาสมานแผล ห้ามเลือด รักษาแผลเรื้อรัง แผลพุพองให้สมานตัวเร็ว และแก้น้ำเหลืองเสีย

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง