5 ธันวาคม วันพ่อ บอกรักพ่อด้วยดอกพุทธรักษา

5 ธันวาคม วันพ่อ
บอกรักพ่อด้วยดอกพุทธรักษา

วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทางราชการได้กำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้ร่วมกันเฉลิมฉลองเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และยังได้ถือเอาวันที่ 5 ธันวาคม นี้เป็น วันพ่อแห่งชาติ อีกวันหนึ่งด้วย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ณ โรงพยาบาล เมาท์ ออเบิร์น นครบอสตัน สหรัฐอเมริกา โดย นายแพทย์วิทท์มอร์ เป็นผู้ถวายการประสูติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเสด็จฯขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 9 แห่งบรมจักรีวงศ์ กรุงรัตนโกสินทร์ ทรงประกอบพระราชกรณียกิจและเจริญพระราชจริยาวัตรเป็นเอนกประการ จำเนียรกาลผ่านมาถึงปัจจุบันที่สุดจะพรรณนาให้ครบถ้วนได้ ท่ามกลางมหาสมาคมวันพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก ทรงมีกระแสพระราชดำรัสที่พสกนิกรทุกคนยังจดจำได้ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม” อันคำว่าโดย “ธรรม” นั้น ทรงหมายถึง ธรรมอันล้ำเลิศที่เรียกว่า “ทศพิธราชธรรม” หรือที่เรียกกันโดยสามัญว่า “ราชธรรม 10 ประการ” ราชธรรม 10 ประการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงยึดมั่นทรงปฏิบัติโดยเคร่งครัด และส่งผลถึงพสกนิกรทั่วพระราชอาณาจักรนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเหนือเกล้าฯ

วันพ่อแห่งชาติ ได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2523 โดยคุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษาเป็นผู้ริเริ่ม หลักการและเหตุผลในการจัดตั้งวันพ่อ โดยที่พ่อเป็นผู้มีพระคุณที่มีบทบาทสำคัญต่อครอบครัวและสังคม สมควรที่ผู้เป็นลูกจะเคารพเทิดทูนตอบแทนพระคุณด้วยความกตัญญู และสมควรที่สังคมจะยกย่องให้เกียรติรำลึกถึงผู้เป็นพ่อ จึงถือเอาวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาเป็น “วันพ่อแห่งชาติ” ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างนานัปการ ทรงเป็นพระราชบิดาของพระราชโอรสและพระราชธิดา ทรงรักใคร่และห่วงใยตั้งแต่พระเยาว์จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งพระเจ้าหลานเธอทุกพระองค์ต่างซาบซึ้งและปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณอย่างมิรู้ลืม พระองค์ทรงเป็น “พ่อ” ตัวอย่างของปวงชนชาวไทยที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตากรุณา ทรงห่วงใยอย่างหาที่เปรียบมิได้

ตั้งแต่มีการกำหนดให้วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันพ่อแห่งชาติขึ้นมาครั้งแรกในปี พ.ศ. 2523 ก็ได้มีการกำหนดให้ดอกพุทธรักษาสีเหลืองเป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำวันพ่อขึ้นมาพร้อมกัน คงเพราะด้วยชื่ออันเป็นมงคลของคำว่า “พุทธรักษา” ซึ่งหมายถึงพระพุทธเจ้าทรงปกป้องคุ้มครองให้มีแต่ความสงบสุขร่มเย็น ซึ่งมีเรียกกันมากว่า 200 ปี และสีเหลืองอันเป็นสีประจำวันพระราชสมภพขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ของปวงชนชาวไทย การมอบดอกพุทธรักษาให้กับพ่อจึงเสมือนกับการบอกถึงความรักและเคารพบูชาพ่อผู้สร้างความสงบสุขร่มเย็นให้แก่ครอบครัว

พุทธรักษา

พุทธรักษา มีชื่อเรียกอื่นเช่น พุทธศร บัวละวงศ์ เป็นพืชในวงศ์ CANNACEAE ชื่อสามัญ Butsarana และชื่อวิทยาศาสตร์คือ Canna indica เป็นพรรณไม้ล้มลุก เนื้ออ่อนอวบน้ำ ลำต้นมีความสูงประมาณ 1–2 เมตร มีลำต้นอยู่ใต้ดินเรียกว่า เหง้า มีการเจริญเติบโตโดยแตกหน่อเป็นกอคล้ายกับกล้วย ลักษณะหน่อที่เจริญเป็นต้นเหนือพื้นดินนั้นมีลักษณะกลมแบนสีเขียวขนาดลำต้นโตประมาณ 2–4 ซม. ใบมีขนาดใหญ่สีเขียวโคนใบและปลายใบรีแหลม ขอบใบเรียบ กลางใบเป็นเส้นนูน โคนใบมีก้านใบยาวเป็นกาบใบหุ้มลำต้นซ้อนสลับกัน ขนาดใบกว้างประมาณ 10–15 ซม. ยาวประมาณ 25–35 ซม. ออกดอกเป็นช่อตรงส่วนยอดของลำต้น ช่อดอกยาวประมาณ 15–20 ซม. ประกอบด้วยดอก 8–10 ดอก และมีกลีบดอกบางนิ่ม ขนาดของดอกและสีสันแตกต่างกันไปตามชนิดพันธุ์

คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นพุทธรักษาไว้ประจำบ้านจะช่วยปกป้องคุ้มครอง ไม่ให้มีเหตุร้ายหรืออันตรายเกิดแก่บ้านและผู้อาศัย เพราะพุทธรักษาเป็นพรรณไม้ที่เชื่อกันว่ามีพระเจ้าคุ้มครองรักษาให้มีความสงบสุข คือเป็นไม้มงคลนามนั่นเอง

การปลูกนิยมปลูกในแปลงเพื่อประดับบริเวณบ้านและสวน หรือปลูกในกระถางเพื่อประดับอาคารบ้านเรือน ควรปลูกในดินร่วนซุย ที่มีความชื้นสูง ต้องการแสงรำไร หรือในบริเวณกลางแจ้งที่มีแสงแดดจัด ต้องการน้ำปานกลาง การดูแลรักษาค่อนข้างง่าย สามารถทนต่อโรคต่างๆ ได้ดี ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดและการแยกหน่อ แต่วิธีที่นิยมและได้ผลดีคือการแยกหน่อ


ปฏิทินพรรณไม้

มีนาคม
เมษายน
กรกฎาคม
พฤศจิกายน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง