16 มกราคม วันครู วันดอกกล้วยไม้บาน

16 มกราคม
วันครู วันดอกกล้วยไม้บาน

ครูนับเป็นปูชนียบุคคลที่มีความสำคัญในการให้การศึกษาเรียนรู้ ทั้งในด้านวิชาการและประสบการณ์ ตลอดจนเป็นผู้มีความเสียสละ ดูแลเอาใจใส่สั่งสอนอบรมให้เด็กได้พบกับแสงสว่างแห่งปัญญา อันจะเป็นหนทางในการประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเอง รวมทั้งการนำพาสังคมประเทศชาติก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีและให้ครูเป็นผู้ได้รับการยกย่องเชิดชู ในปี พ.ศ.2499 จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ได้กล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมถึงความคิดที่จะกำหนดให้มีวันครูและเป็นการสอดคล้องกับความคิดเห็นของครูโดยทั่วไป

16 มกราคม วันครู วันดอกกล้วยไม้บาน

ดังนั้นในวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2499 คณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดให้ วันที่ 16 มกราคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2488 เป็น “วันครู”

วันครูได้ให้มีขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2500 สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาในปี พ.ศ.2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการ เรียกว่า คุรุสภา เป็นนิติบุคคล ให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครู ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษาและวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษาธิการ ควบคุมจรรยาและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครูและครอบครัวได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู

ดอกกล้วยไม้ ดอกไม้ประจำวันครู

คณะกรรมการจัดงานวันครู พ.ศ.2539 ได้มีมติกำหนดให้ดอกกล้วยไม้เป็น ดอกไม้ประจำวันครู โดยพิจารณาเห็นว่าลักษณะของดอกกล้วยไม้มีลักษณะและความหมายคล้ายคลึงกับงานจัดการศึกษาและสภาพชีวิตครู ดังคำกลอนของท่านหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ที่ว่า…

กล้วยไม้ออกดอกช้า ฉันใด
การศึกษาเป็นไป เช่นนั้น
แต่ดอกออกคราวใด งามเด่น
งานสั่งสอนปลูกปั้น เสร็จแล้วแสนงาม

นอกจากนี้ กล้วยไม้เป็นพืชที่อยู่ในที่สูง ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศไม่ร่วงโรยง่าย เปรียบเสมือน ครูที่อยู่ทั่วแดนไทยที่ต้องอดทนต่อสู้เพื่ออุดมการณ์และอุทิศตนเพื่อการศึกษาของชาติ

กล้วยไม้

ชื่อวิทยาศาสตร์ Orchid
ชื่อวงศ์ ORCHIDACEAE
ชื่อสามัญ Orchid
ชื่ออื่นๆ เอื้อง (ภาคเหนือ)
ถิ่นกำเนิด ลาตินอเมริกา, เอเซียแปซิฟิค
การขยายพันธุ์ แยกลำ, แยกหน่อ, เพาะเนื้อเยื่อ
ประวัติและข้อมูลทั่วไป

กล้วยไม้เป็นพืชวงศ์ใหญ่ มีกว่า 700 สกุล ที่พบในธรรมชาติมีประมาณ 25,000 ชนิด มีการผสมข้ามชนิดและข้ามสกุลมากกว่า 30,000 คู่ผสม กล้วยไม้มีดอกสวยงาม หลากหลายสีสัน เป็นที่นิยมปลูกเลี้ยงกันทั่วโลก ประเทศไทยเป็นแหล่งกำเนิดพันธุ์กล้วยไม้ที่สวยงามหลายชนิดและมีการพัฒนากล้วยไม้ลูกผสมจำนวนมากขึ้นภายในประเทศ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

กล้วยไม้เป็นพืชวงศ์ใหญ่ มีความแตกต่างกันภายในวงศ์อย่างเห็นได้ชัด โดยทั่วไปลำต้นของกล้วยไม้ไม่มีแก่นและเปลือก เนื้อในเสมอกัน ลำต้นมี 2 ลักษณะ คือ ลำต้นแท้ มีข้อและปล้องเหมือนพืชใบเลี้ยงเดี่ยวทั่วไป มีการเจริญเติบโตทางยอด ลำต้นเทียมหรือลำลูกกล้วยไว้สะสมอาหาร มีลำต้นเป็นเหง้า มีข้อและปล้องถี่ เจริญในแนวนอนไปตามผิวของเครื่องปลูก รากกลมอวบเป็นเส้นเล็กแข็งหรือแบนราบ มีทั้งรากดิน รากกึ่งดิน รากกึ่งอากาศ และรากอากาศ ใบเป็นใบเลี้ยงเดี่ยวมีลักษณะต่างกันออกไป เช่น รูปแถบ รูปกลมยาว หรือลดรูปเป็นเพียงเกล็ด แผ่นใบบางคล้ายใบหมาก หนาอวบน้ำ หรือเป็นแท่งกลม ส่วนมากแล้วไม่มีส่วนที่เป็นก้านใบชัดเจน สีของใบเป็นสีเขียวสด บางชนิดเป็นสีม่วงคล้ำ บางชนิดก็มีลวดลาย ดอกออกที่ปลายลำต้น ซอกใบหรือข้างลำต้น ดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อ แต่ละดอกมีกลีบเลี้ยง 3 กลีบเรียงสลับกันกับกลีบดอก 3 กลีบ กลีบดอกอันล่างมีลักษณะต่างออกไปเรียกว่ากลีบปากหรือกลีบกระเป๋าไว้สำหรับล่อแมลง ก้านเกสรตัวเมียและยอดเกสรตัวเมียเชื่อมติดกันกับเกสรตัวผู้เป็นเส้าเกสรอยู่กลางดอก เกสรตัวผู้อยู่รวมกันเป็นก้อนเป็นกลุ่มเรณู แต่ละอับเรณูมีฝาปิด มี 2, 4 หรือ 8 ก้อนแล้วแต่ชนิดกล้วยไม้ ยอดเกสรตัวเมียอยู่ใต้อับเรณู มีลักษณะเป็นเมือกเหนียว รังไข่อยู่ตรงส่วนของก้านดอก เมื่อได้รับการผสมจะเจริญไปเป็นเมล็ดต่อไป

การปลูกและดูแลรักษา

โดยส่วนใหญ่กล้วยไม้เป็นพืชที่ชอบความชุ่มชื้นแต่ไม่แฉะ อุณหภูมิค่อนข้างต่ำ แต่ถ้าอากาศเย็นจัดกล้วยไม้จะพักตัวเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ ควรปลูกให้ได้รับแสง 50-60% เครื่องปลูกแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับระบบราก เช่น กล้วยไม้ที่มีระบบรากดินและกิ่งดินใช้อินทรียวัตถุที่เน่าเปื่อยผุพังและร่วนซุย กล้วยไม้ที่มีระบบรากอากาศและกึ่งอากาศใช้ ถ่าน กาบมะพร้าว หินเกล็ด อิฐหักหรือทรายหยาบ หรืออาจผูกติดกับต้นไม้ใหญ่ให้รากยึดกับต้นไม้ การรดน้ำควรรดน้ำวันละครั้งแต่อย่าให้แฉะ รักษาความชื้นของเครื่องปลูกให้สม่ำเสมอ


ปฏิทินพรรณไม้

มีนาคม
เมษายน
กรกฎาคม
พฤศจิกายน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง