ส้มป่อย

ส้มป่อย

ชื่อวิทยาศาสตร์

Acacia rugata Merr

ชื่อวงศ์

MIMOSACEAE

ชื่อสามัญ

Soap Pod

ชื่อท้องถิ่น

  • ทั่วไป เรียก ส้มป่อย
  • ฉาน-แม่ฮ่องสอน เรียก ส้มขอน
  • แพร่ เรียก เอกราช

ลักษณะทั่วไป

ส้มป่อยเป็นไม้เลื้อย มีเถาเป็นเนื้อไม้และมีหนามที่เปลือกของลำต้น ลำต้นเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่นได้ บริเวณยอดอ่อนเถา จะเป็นสีแดงคล้ำมีหนามอ่อน ใบเป็นใบประกอบ ก้านใบประกอบยาว 6–16 ซม. ก้านใบยาว 1.5–5.2 ซม. ประกอบด้วยใบ 5–10 คู่ มีใบย่อย 10–35 คู่ ในแต่ละก้าน ใบย่อยสีเขียวขนาดเล็ก ดอกจะแตกออกจากง่ามใบลักษณะเป็นทรงกลมคล้ายดอกกระถินและมีเกสรเป็นขนอ่อนๆ รอบดอก เมื่อดอกแก่จะกลายเป็นฝักยาว ผลเป็นฝัก ผิวของฝักมีคลื่นขรุขระ ฝักยาว 10–15 ซม. เปลือกของฝักอ่อนเป็นสีเขียวอมแดง พอแก่เป็นสีน้ำตาลเข้ม เมล็ดเรียงอยู่ภายใน

การปลูก

ส้มป่อยเป็นไม้ที่พบในแหล่งธรรมชาติ ภายในป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณและป่าที่ราบเชิงเขา การขยายพันธุ์ส้มป่อย ทำได้ 2 วิธีคือ การปักชำ และการเพาะเมล็ด การปักชำ โดยตัดกิ่งแก่ ยาวประมาณ 1 ศอกมาปักชำในบริเวณชื้น

สรรพคุณทางยา

  • ใบ รสเปรี้ยว ฝาดร้อนเล็กน้อย สรรพคุณช่วยขับเสมหะ ขับระดูขาว แก้บิด ฟอกโลหิต แก้โรคตา
  • ดอก รสเปรี้ยว ฝาด มัน แก้เส้นเอ็นพิการให้สมบูรณ์
  • ฝัก รสเปรี้ยว เป็นยาขับเสมหะ แก้ไอ ทำให้อาเจียน แก้น้ำลายเหนียว แก้โรคผิวหนัง ช่วยขจัดรังแคและบำรุงเส้นผม
  • เปลือก รสขมเปรี้ยว เผ็ดปร่า เจริญอาหารกัดเสมหะ แก้ไอ แก้ซางเด็ก
  • ต้น รสเปรี้ยวฝาดแก้ตาพิการ
  • ราก รสขม แก้ไข้ แก้ท้องร่วง

ประโยชน์ทางอาหาร

ยอดอ่อนและใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผัก และเครื่องปรุงรสช่วยให้อาหารมีรสเปรี้ยวและช่วยดับกลิ่นคาวปลาได้ ยอดส้มป่อยมักนำมาแกงกับปลา แกงส้ม หรือจอ (อาหารเหนือ) ก็ได้ เวลาแกงอาจจะใส่ยอดส้มป่อยอย่างเดียว หรือแกงรวมกับยอดมะขามอ่อนก็ได้

ประโยชน์อื่นๆ

น้ำของฝักส้มป่อยใช้ขัดล้างเครื่องเงิน เครื่องทอง นอกจากนี้เปลือกต้นให้สีน้ำตาลและสีเขียวซึ่งใช้ประโยชน์ในการย้อมผ้า ย้อมแห และอวนได้

คติความเชื่อ

ส้มป่อยเป็นไม้มงคลของชาวไทย กำหนดปลูกในทิศอุดร (ทิศเหนือ) บางท้องถิ่นเชื่อว่าการปลูกส้มป่อยจะช่วยขับไล่ภูตผีปีศาจและสิ่งเลวร้ายมิให้มารบกวน ในพิธีกรรมการทำน้ำมนต์เพื่อสะเดาะเคราะห์จะใช้ใบส้มป่อยร่วมกับใบเงินใบทอง ใบมะกรูด หญ้าแพรก ใบราชพฤกษ์ ใบมะตูม และใบหมากผู้หมากเมีย เมื่อน้ำมนต์มาพรมศีรษะหรืออาบ สำหรับผู้ป่วยจะช่วยให้เคราะห์โศกบรรเทาลงได้ ในพิธีกรรมและประเพณีท้องถิ่นของชาวเหนือ ทั้งที่เป็นมงคลและไม่เป็นมงคลมักจะมีส้มป่อย ร่วมด้วยเสมอ เพราะเชื่อว่าส้มป่อยเป็นของขลังที่จะช่วยปกป้องจากสิ่งเลวร้าย ทั้งยังช่วยเสริมหรือคืนอำนาจให้สำหรับผู้ ที่มีคาถาอาคมอีกด้วย โดยชาวเหนือนำฝักส้มป่อยปิ้งไฟพอเหลือง แช่น้ำ และนำน้ำไปทำน้ำมนต์ใช้รดหรืออาบผู้ป่วย


ทิศอุดร (ทิศเหนือ)

ทิศอีสาน (ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ)

ทิศบูรพา (ทิศตะวันออก)

ทิศอาคเนย์ (ทิศตะวันออกเฉียงใต้)

ทิศทักษิณ (ทิศใต้)

ทิศหรดี (ทิศตะวันตกเฉียงใต้)

ทิศประจิม (ทิศตะวันตก)

ทิศพายัพ (ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ)

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง