ตะโก

ตะโก

ตะโกเป็นพันธุ์ไม้ที่นิยมใช้ทำไม้ดัดมากที่สุด เนื่องจากเป็นไม้พื้นเมืองที่พบตามป่าธรรมชาติทั่วประเทศ ทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดี ง่ายต่อการปลูกเลี้ยง บำรุงรักษา จึงเหมาะที่จะนำมาทำเป็นไม้ดัด

ตะโก ต้นตะโก

ชื่อสามัญ

Ebony

ชื่อวิทยาศาสตร์

Diospyios rhodcalyx.

วงศ์

EBENACEAE

ชื่ออื่น

ตะโกนา, โก, นมงัว, มะโก, มะถ่าน, ไฟผี, พระยาช้างดำ

ลักษณะทั่วไป

ต้นตะโกเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณทั่วๆ ไป สูงประมาณ 15 เมตร เป็นไม้เนื้อแข็งและเหนียว อายุยืนยาว ลำต้นมีเปลือกหุ้มสีดำแตกเป็นสะเก็ดหนาๆ ใบเดี่ยวเรียงสลับกันรูปไข่ หรือรูปป้อมๆ โคนใบสอบเป็นรูปลิ่ม ป้อมหรือป้าน ปลายใบโค้งมน ป้าน เว้าเข้า หรือหยักคอดเป็นติ่งสั้นๆ ผิวเกลี้ยงเขียวสด ใบดกและหนาทึบ ดอกจะออกตามง่ามใบ ก้านดอกยาว 1–3 มม. มีขนนุ่ม ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่ต่างต้นกัน ดอกเพศผู้จะออกเป็นช่อๆ ละประมาณ 3 ดอก ดอกเพศเมียออกดอกเดี่ยวๆ ผลกลมเมื่ออ่อนมีขนสีน้ำตาลแดง โคนและปลายผลมักบุ๋ม มียางมาก รสฝาด นิยมใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ

การขยายพันธุ์

ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมเนื่องจากโตช้า การตอนกิ่ง หรือใช้วิธีขุดล้อมมาจากธรรมชาติก็ได้

การปลูก

  • หากปลูกลงดิน ขนาดหลุมปลูก 50x50x50 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ดินร่วน อัตรา 1:2 ผสมดินปลูก
  • หากปลูกใส่กระถาง ควรใช้กระถางทรงสูงขนาด 12–24 นิ้ว ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก:ดินร่วน อัตรา 1:1 ผสมดินปลูก และควรเปลี่ยนกระถางทุกๆ 2–3 ปี หรือตามการเจริญเติบโตของต้นตะโกที่ปลูก

การดูแลรักษา

  • แสง ต้องการแสงแดดปานกลาง จนถึงแดดจัด หรือกลางแจ้ง
  • น้ำ ต้องการน้ำปานกลาง ควรให้น้ำ 5–7 วัน/ครั้ง
  • ดิน ดินร่วนซุย ความชื้นปานกลาง
  • ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 1–2 กิโลกรัมต่อต้น ใส่ปีละ 4–6 ครั้ง

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง